ตาลายเป็นปัญหาด้านการมองเห็นที่มักเกิดพร้อมกับอาการเวียนหัว ถึงแม้จะเรียกว่าอาการตาลาย แต่อาการนี้มักไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของดวงตาโดยตรง เพราะส่วนใหญ่อาการตาลายมักเป็นผลกระทบที่เกิดจากอวัยวะและระบบใกล้เคียงดวงตาเกิดความผิดปกติ และกระทบกระเทือนถึงการมองเห็น
บางคนอาจพบอาการตาลายร่วมกับอาการบ้านหมุน เสียการทรงตัว หน้ามืด และเป็นลมได้เช่นกัน โดยความผิดปกติด้านการรับรู้เหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความดันเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือแม้แต่ความเครียดก็ส่งผลให้เกิดอาการได้ แม้ว่าอาการตาลายจะเป็นอาการทั่วไป แต่บางครั้งอาการดังกล่าวอาจนำไปสู่การบาดเจ็บและอุบัติเหตุได้
อาการตาลายเกิดจากอะไร
ดวงตาและระบบการมองเห็นเชื่อมต่อและตั้งอยู่ใกล้กับอวัยวะและระบบอื่นมากมาย เช่น หู สมอง และระบบประสาท ด้วยเหตุนี้เมื่ออวัยวะและระบบใกล้เคียงผิดปกติก็อาจทำให้การมองเห็นเปลี่ยนไปและเกิดอาการตาลายได้ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดความผิดปกติกับดวงตาโดยตรงก็ตาม
อาการตาลายในชีวิตประจำวันเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุและปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น
- อาการปวดหัวไมเกรน
- โรคเกี่ยวกับหู เช่น การติดเชื้อในหูชั้นใน โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
- อาการเมารถ เมาเรือ หรือพาหนะชนิดอื่น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ยาต้านเศร้า และยากันชัก
- ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารที่ทำให้มึนเมา
- ความดันเลือดต่ำลงแบบฉับพลัน มักเกิดได้บ่อยเมื่อลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ หลังจากการนั่งหรือนอนนาน ๆ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่อาจเกิดจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ได้กินอาหาร หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน
- ภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ความเครียดและความวิตกกังวล
- การออกกำลังกายหนักหรือนานจนเกินไป ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- ภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย อยู่ในที่ที่อากาศร้อน ท้องเสีย และอาเจียน
อาการตาลายเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย แต่อาการตาลายเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องดูหลาย ๆ ปัจจัยประกอบ
บางครั้งอาการตาลายอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวที่ไม่ร้ายแรง แต่บางกรณีอาการนี้ก็อาจสื่อถึงปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตราย อย่างเนื้องอกในสมอง เนื้องอกในหู โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคอื่น ๆ
เมื่อตาลาย รับมืออย่างไรดี
อาการตาลาย เวียนหัว หน้ามืด และเป็นลมล้วนส่งผลต่อการทรงตัว ซึ่งหากเสียการทรงตัวก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ เช่น การหกล้ม การตกบันได หรือรถชน
โดยอุบัติเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บไม่มากก็น้อย แต่ในกรณีที่เกิดกับผู้สูงอายุอาจเป็นอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงต่ออาการตาลายและอาการในลักษณะเดียวกันมากกว่าคนวัยอื่นด้วย
เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ วิธีต่อไปนี้อาจช่วยได้
- นั่งหรือนอนลงบนพื้น เก้าอี้ เตียงนอน โซฟา หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่ปลอดภัยและมั่นคง เพื่อป้องกันการหกล้มหรือกระแทกกับส่งของต่าง ๆ หากไม่อยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เอื้ออำนวย อย่างน้อยควรคว้าราวจับ อย่างราวบันไดเพื่อลดแรงกระแทกให้ได้มากที่สุด
- เมื่อนั่งหรือนอนในที่ปลอดภัยแล้ว ไม่ควรพยายามลุกขึ้นหรือเคลื่อนไหวในทันที ควรรอให้อาการดีขึ้นก่อน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรร้องหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ
- ไม่ควรลุกขึ้นยืนเร็วจนเกินไปเพื่อป้องกันความดันเลือดต่ำลงแบบฉับพลัน
- กินอาหารให้ตรงเวลาและกินให้หลากหลาย ร่วมกับการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ และจิบน้ำระหว่างออกอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงความเครียดและอารมณ์ด้านลบ
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง หากใช้ยาตามแพทย์สั่งแล้วยังพบอาการตาลายหรืออาการข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีแก้ไข
- งดดื่มแอลกอฮอล์และหลีกเลี่ยงสารที่มีฤทธิ์มึนเมาประเภทอื่น ๆ
อย่างที่ได้บอกว่าอาการตาลายอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วย ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย หากพบอาการตาลายที่รุนแรงขึ้น เป็นติดต่อกันนาน เกิดขึ้นบ่อย หรืออาการดังกล่าวเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด สำหรับคนที่ทราบถึงการเจ็บป่วยของตนเองและสงสัยว่าโรคของตนเองอาจเกี่ยวข้องกับอาการตาลาย ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้อง
หากพบอาการตาลาย เวียนหัว หน้ามืด ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ปวดหัวอย่างรุนแรง ได้รับการบาดเจ็บบริเวณหัวทั้งหลังและก่อนเกิดอาการตาลาย มีไข้สูง หัวใจเต้นผิดปกติ ชักเกร็ง กระตุก หายใจไม่อิ่ม ท้ายทอยแข็ง พูดไม่ชัด การมองเห็นและการได้ยินเปลี่ยนไป อาเจียน ปากเบี้ยว ยกแขน ขา หรือควบคุมอวัยวะไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ทันที