รู้หรือไม่ว่าอาการนิ่วในถุงน้ำดีนั้นอาจไม่มีสัญญาณเตือนให้เรารู้ตัว และมักพบบ่อยในคนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกับผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนละเลยต่อความผิดปกติในถุงน้ำดี หรือเข้าใจว่าคงเป็นเพียงปัญหาสุขภาพที่เล็กน้อยเท่านั้น
นิ่วในถุงน้ำดีเป็นผลมาจากคอเลสเตอรอลหรือสารให้สีในน้ำดีอย่างสารบิลิรูบิน (Bilirubin) มีปริมาณมากเกินไป จนสะสมตกตะกอนก่อตัวกลายเป็นก้อนแข็งในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็กทางช่องท้องด้านขวาบริเวณใต้ตับที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดี โดยผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีปริมาณของก้อนนิ่วที่มากน้อยต่างกันไป ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต รวมไปถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างเพศ อายุ หรือประวัติทางสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว
อาการนิ่วในถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีแสดงออกมา แต่หากเกิดการอุดตันของนิ่วภายในท่อน้ำดีอาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องด้านขวาส่วนบน หรือตรงกลางท้อง บริเวณใต้กระดูกหน้าอก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน และอาจคงอยู่นานหลายนาทีไปจนถึง 2–3 ชั่วโมง ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดหลังระหว่างสะบักทั้งสองด้าน ปวดไหล่ด้านขวา คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีลักษณะสีซีดคล้ายดินโคลน เรอ ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลหรือพบสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาทิ ปวดเสียดท้องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถนั่งหรือหาท่าทางที่สบายได้ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่านจากการอุดตันของท่อน้ำดี มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด รวมไปถึงความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงโดยด่วน
เนื่องจากอาการนิ่วในถุงน้ำดีอาจคล้ายคลึงกับอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ไส้ติ่งอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ตับอ่อนอักเสบ หรือกรดไหลย้อน ที่ยิ่งไปกว่านั้นหากท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนอุดตันแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
วิธีรักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดีที่เหมาะสม
ที่จริงแล้ว หากผู้ป่วยไม่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดี ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากมีอาการปวดหรือพบสัญญาณของก้อนนิ่วอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด อาทิ
1. การผ่าตัด
แพทย์จะผ่าตัดนำถุงน้ำดีของผู้ป่วยออก เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีมักเกิดซ้ำได้บ่อยครั้ง ซึ่งวิธีผ่าตัดถุงน้ำดีที่แพทย์มักใช้กัน ได้แก่
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีที่ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงอาจกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ภายในวันเดียวกันหรือในวันรุ่งขึ้นหากไม่พบสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนใด ๆ โดยผู้ป่วยมักกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติใน 1 สัปดาห์ให้หลัง
- การผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง (Open Cholecystectomy) นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีถุงน้ำดีอักเสบหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือมีแผลเป็นจากการผ่าตัดอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจต้องนอนดูอาการภายในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม
หลังจากตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แม้ปราศจากถุงน้ำดีก็ไม่มีผลต่อการย่อยอาหาร โดยน้ำดีจะไหลออกจากตับไปสู่ลำไส้เล็กโดยตรง ทว่าอาจทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นน้อยลงจนมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องเสียได้เป็นครั้งคราว จึงควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพื่อลดการผลิตน้ำดี
2. การใช้ยารักษา
ยาละลายก้อนนิ่วจากคอเลสเตอรอลอย่างยาคีโนไดออล (Chenodiol) หรือยาเออร์โซไดออล (Ursodiol) มักใช้เฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ไม่นิยมนำมารักษาผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีโดยทั่วไป โดยอาจต้องรับประทานติดต่อกันนานเป็นเดือนหรือเป็นปี หากหยุดใช้ยา ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีอาจกลับมาอีกครั้ง ทว่าวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผล
3. การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave Lithotripsy)
เป็นการใช้คลื่นเสียงจากภายนอกร่างกายเพื่อทำลายก้อนนิ่วให้แตกเป็นผง จากนั้นจึงจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะตามธรรมชาติ ทว่าแพทย์มักใช้วิธีนี้น้อยครั้งมาก และบางครั้งอาจใช้ร่วมกับการรับประทานยาเออร์โซไดออล
อย่างไรก็ตามอาการนิ่วในถุงน้ำดีนั้นอาจดีขึ้นได้หรือลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับพฤติกรรมตัวเอง อาทิ รับประทานอาหารให้เป็นเวลาและครบทุกมื้อ เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำและอุดมไปด้วยใยอาหารอย่างผักหรือผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ หรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากพบอาการผิดปกติหรืออาการเข้าข่ายนิ่วในถุงน้ำดี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ