อาการปวดจากมะเร็งพบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากโรคมะเร็งโดยตรง วิธีการรักษา หรือทั้ง 2 ปัจจัยรวมกัน โดยอาการปวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือแม้แต่การนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาช่วยในการบรรเทาอาการปวด
แม้อาการปวดจากมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน แต่ก็อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ การทราบถึงการใช้ยาบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด
อาการปวดจากมะเร็งเป็นแบบไหน เกิดได้อย่างไร
อาการปวดจากมะเร็งอาจเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของเนื้องอกในร่างกาย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียง เซลล์มะเร็งลุกลามของไปยังเนื้อเยื่ออ่อน รวมถึงกดทับเส้นประสาท กระดูก หรืออวัยวะโดยรอบจนก่อให้เกิดอาการปวด
นอกจากตัวโรคมะเร็งเองแล้ว อาการปวดจากมะเร็งอาจเป็นผลมาจากวิธีการตรวจหามะเร็งหรือการรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย เช่น การทำเคมีบำบัดด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Chemotherapy) การฉายรังสี การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง การใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) และการผ่าตัด
ผู้ที่มีอาการปวดจากมะเร็งมักจะรู้สึกปวดในระดับปานกลางไปจนถึงปวดอย่างรุนแรง โดยอาการปวดอาจเกิดได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ชนิดของมะเร็ง และการทนต่อความเจ็บปวด (Pain Tolerance) ที่แตกต่างกันไปในแต่คนด้วย
ลักษณะอาการปวดจากมะเร็งที่พบในผู้ป่วยมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น รู้สึกปวดอย่างรุนแรงในตอนต้นก่อนที่อาการปวดจะหายไปอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา บางรายอาจมีอาการปวดตุบ ๆ หรือปวดเสียดติดต่อกันเป็นเวลานานและอาจต้องบรรเทาด้วยการใช้ยาแก้ปวด หรือมีอาการปวดรุนแรงอย่างเฉียบพลันหลังการใช้ยาบรรเทาอาการปวดจากมะเร็ง
การบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งด้วยการใช้ยา
อาการปวดจากมะเร็งสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยารับประทานรูปแบบของยาเม็ด ยาน้ำหรือยาอม แผ่นแปะผิวหนัง ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เข้ากล้ามเนื้อ เข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าช่องเหนือไขสันหลัง หรือการใช้เครื่องมือให้ยาแก้ปวดด้วยตนเอง (Patient-Controlled Analgesia: PCA) โดยตัวอย่างกลุ่มยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากมะเร็ง เช่น
ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่กลุ่มโอปิออยด์ (Non-Opioid Analgesics)
ตัวอย่างยาแก้ปวดที่ไม่ใช้กลุ่มโอปิออยด์ที่นำมาใช้บรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพร็อกเซน (Naproxen)
ยากลุ่มนี้สามารถรับประทานได้ทันทีเมื่อรู้สึกปวด ไม่จำเป็นต้องรอให้ปวดอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว เนื่องจากการอดทนต่อความเจ็บปวดจะทำให้การบรรเทาอาการยากขึ้นกว่าเดิม โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาเหล่านี้จะมีข้อจำกัดเรื่องความถี่ในการออกฤทธิ์
นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงชนิดของยา ปริมาณและระยะเวลาการใช้ยาแก้ปวดที่เหมาะสม เพราะแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่น ผู้ป่วยมะเร็งตับหรือมะเร็งไตที่ต้องระวังในการใช้ยาอย่างมาก หรือผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ยา NSAIDS ได้แก่ อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด หรือรับประทานยาเจือจางเลือด
ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Analgesics)
ตัวอย่างยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีน ยาเฟนทานิล (Fentanyl) หรือยาโคเดอีน (Codeine) ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งในระดับปานกลางหรือระดับรุนแรง
โดยแพทย์อาจใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น รู้สึกซึมลง ไม่รู้สึกตัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เสพติดยา และอาจกดการหายใจ (Respiratory Depression) เป็นต้น
ยาชา
ในกรณีที่อาการปวดจากมะเร็งของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการบรรเทาด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์จะฉีดยาชาเข้าทางหลอดเลือดดำหรือทางไขสันหลัง ซึ่งจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ในการบรรเทาปวดได้เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ
นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งได้อีกหลายวิธี เช่น การใช้ครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) การฝังเข็ม หรือการบรรเทาอาการด้วยตนเอง อย่างการฝึกหายใจเพื่อคลายความเครียด การเล่นโยคะ การรำไท้เก๊ก การนวด การประคบร้อน หรือการประคบเย็น
อาการปวดจากมะเร็งสามารถบรรเทาได้ แต่หากอาการปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอน เริ่มปวดในบริเวณที่ไม่เคยปวดมาก่อน รู้สึกปวดในระหว่างการใช้ยา อาการปวดไม่ลดลงแม้จะใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ พร้อมทั้งอธิบายถึงลักษณะ ความรุนแรงและระยะเวลาของการปวดอย่างละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและบรรเทาอาการปวดมากที่สุด