อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่คุณแม่หลายคนมักพบ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อย อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการปวดท้องน้อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้เช่นกัน
อาการปวดท้องน้อยคืออาการปวดท้องบริเวณตั้งแต่ใต้สะดือลงไป โดยในกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็อาจมีตั้งแต่สาเหตุที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไปจนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรงและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการสำคัญเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ทุกคน
สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ
อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
1. เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายมักเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
การเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวไปอาจเป็นสาเหตุให้ข้อต่อและเส้นเอ็นบริเวณกระดูกเชิงกรานเกิดการคลายตัว จนอาจนำไปสู่อาการปวดบริเวณท้องน้อยได้
2. อาการท้องผูก
อาการท้องผูกก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกอาจมีโอกาสเกิดอาการปวดท้องน้อยตามมาได้จากการที่อาหารเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารช้า
3. ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อในอวัยวะที่อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะ ไต และกระเพาะปัสสาวะ โดยการติดเชื้อบริเวณนี้จะส่งผลให้เกิดการอักเสบและอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น อาการปวดท้องน้อย รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะปนเลือด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
4. แท้ง
แท้งเป็นภาวะที่คุณแม่สูญเสียตัวอ่อนในช่วงก่อน 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยอาการปวดท้องน้อยก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งอาจพบได้ก็เช่น มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด มีเนื้อเยื่อสีออกเทาหรือลิ่มเลือดออกมาจากช่องคลอด ปวดท้องรุนแรง และอาการปวดหลังช่วงล่าง
5. ภาวะท้องนอกมดลูก
ท้องนอกมดลูกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่มีการปฏิสนธิกับสเปิร์มแล้วไปฝังตัวและเติบโตนอกมดลูก
ภาวะนี้เป็นภาวะที่อันตราย โดยอาการแรก ๆ ของภาวะนี้ก็คือ อาการปวดท้องน้อยและมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาก็เช่น ปวดบริเวณหัวไหล่ และปวดอุจจาระบ่อย
นอกจาก 5 ตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น นิ่วในไต โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน และไส้ติ่งอักเสบ
สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์สำหรับคุณแม่ที่มีอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ
คุณแม่ควรสังเกตอาการตัวเองว่า นอกจากอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ แล้ว คุณแม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ หากคุณแม่พบอาการดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
- มีเลือดออกมากจากช่องคลอด
- ตกขาวมีหนองปน
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปวดศีรษะขั้นรุนแรง
- อาการบวมบริเวณใบหน้า มือ และเท้า
- คลื่นไส้หรืออาเจียนเรื้อรัง
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่มีอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อาการปวดท้องน้อยไม่รุนแรง อาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการยกหรือถือของหนัก การยืนหรือเดินนาน ๆ และการออกกำลังกายอย่างหนัก เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้อาจยิ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยมากขึ้น
- ปรับท่านอนหลับโดยการนำหมอนข้างมาคั่นไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง
- พักผ่อนร่างกายเมื่อมีอาการปวดจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ออกกำลังกายเบา ๆ แต่ให้เลือกกีฬาหรือกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น โยคะคนท้อง ฝึกกระชับช่องคลอด หรือการเดิน
- พยายามไม่อยู่ในท่าหลังค่อม โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในท่านั่ง
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง
- พยายามสวมใส่หรือถอดเสื้อผ้าในท่านั่ง
ทั้งนี้ คุณแม่ที่มีอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ควรเข้าใจด้วยว่า วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากคุณแม่ลองทำตามวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากเกิดอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ หรืออาการปวดเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน