ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันและเกิดได้กับทุกช่วงวัย สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในชีวิตประจำวันมักมาจากการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักหรือต่อเนื่อง อย่างการทำงาน การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา โดยอาการปวดเมื่อยอาจเกิดขึ้นทันทีหลังทำกิจกรรมหรือเกิดขึ้นหลังทำกิจกรรมไปแล้ว 24-72 ชั่วโมง
โดยทั่วไป อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักหายเองได้ใน 1-5 วัน แต่บางครั้งอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิดไม่สบายตัวอยู่ไม่น้อย หากทิ้งไว้ก็อาจเสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ การดูแลตนเองในเบื้องต้นอาจช่วยบรรเทาปวดและลดความเสี่ยงของผลกระทบจากอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดเมื่อย และวิธีแก้ปวดเมื่อยด้วยตนเองมาฝากกัน
ที่มาของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในชีวิตประจำวัน
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อล้าและบาดเจ็บ ซึ่งกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว
-
การออกกำลังกาย
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่คนออกกำลังกายต้องพบเจอเป็นปกติ ยิ่งบางคนที่ออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ใช้กล้ามเนื้อนานเกินไป เล่นกีฬาที่เคลื่อนไหวและใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ ก็อาจมีอาการปวดเมื่อยรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายโดยไม่วอร์มอัพ คูลดาวน์ หรือออกกำลังกายผิดท่าอาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
-
การทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ
การทำงานหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็สามารถทำให้คุณรู้สึกปวดเมื่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานสวน การนั่งหรือยืนทำงานนาน ๆ โดยเฉพาะคนทำงานที่นั่งทำงานผิดท่า อย่างนั่งหลังค่อม นั่งไขว่ห้าง นั่งเท้าคาง และนั่งยกไหล่
-
การบาดเจ็บ
อุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน ทั้งการหกล้ม การกระแทกกับสิ่งของต่าง ๆ หรือการยกของหนัก อาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ และบางครั้งอาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำร่วมด้วย
นอกจากสาเหตุทั่วไปเหล่านี้แล้ว ปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
รับมือกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วยตนเอง
การรักษาและบรรเทาปวดเมื่อยด้วยตนเองในเบื้องต้นทำได้ไม่ยาก โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ดังนี้
วิธีแก้ปวดเมื่อยโดยไม่ใช้ยา
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสามารถทำได้เองโดยยึดหลัก R.I.C.E. ได้แก่
- R: Rest หรือการพักกล้ามเนื้อจากการใช้งาน อาจช่วยให้อาการปวดเมื่อยหายได้ไวขึ้น ในทางกลับกัน หากฝืนใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักต่อไปอาจทำให้อาการปวดบวมรุนแรงขึ้น กล้ามเนื้อฉีกขาด และเกิดรอยฟกช้ำได้
- I: Ice หรือน้ำแข็ง ในที่นี้หมายถึงการประคบเย็น เพราะความเย็นจะลดการไหลเวียนเลือดบริเวณกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บและอักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดบวม การประคบเย็นทำได้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดประคบบริเวณที่ปวด 15–20 นาที/ครั้ง ทุก 2–3 ชั่วโมง หากไม่มีสามารถใช้ผ้าห่อถุงน้ำแข็งหรือใช้ขวดน้ำเย็นประคบแทนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบผิวโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังบาดเจ็บได้
- C: Compression หมายถึงการใช้ผ้ารัดกล้ามเนื้อที่มีความยืดหยุ่นพันบริเวณที่ปวด เพื่อลดการไหลเวียนเลือดที่เป็นสาเหตุของอาการปวดบวม โดยควรรัดกล้ามเนื้อให้กระชับพอดี ไม่แน่นจนเกินไป โดยเฉพาะการรัดกล้ามเนื้อในช่วงนอนหลับ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานานจนทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดและเป็นอันตราย นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผ้ารัดกล้ามเนื้อรูปแบบที่เป็นปลอกสวม ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ตามตำแหน่งที่ต้องการรัดได้ทันที
- E: Elevation คือการยกอวัยวะส่วนที่ปวดบวมให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดการไหลเวียนเลือด วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและค่อนข้างปลอดภัย โดยอาจใช้หมอนหนุนแขนหรือขาที่ปวดขณะนอน หรือใช้อวัยวะนั้น ๆ พาดไว้บริเวณที่สูงกว่าเพื่อลดการไหลเวียนเลือดและช่วยลดอาการปวดบวมได้
นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว หากสาเหตุของอาการปวดเมื่อยมาจากกล้ามเนื้อตึงตัว การนวดบริเวณที่ปวดเมื่อยเบา ๆ อาจช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อได้ แต่ควรนวดอย่างระมัดระวัง ไม่ออกแรงมากจนรู้สึกเจ็บ หรือนวดติดต่อกันนาน เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ
บรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยยาทาแก้ปวด
ยาทาแก้ปวดสำหรับทาเฉพาะจุดเป็นตัวช่วยที่อาจบรรเทาอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อได้อย่างตรงจุด โดยให้ใช้ยาทาแก้ปวดมาทา ถู หรือนวดเบา ๆ บริเวณที่ปวดเมื่อย 3–4 ครั้ง/วัน หากเป็นแบบเปรย์ให้ฉีดห่างจากบริเวณที่ปวดเล็กน้อย โดยหลีกเลี่ยงการทาหรือฉีดสเปรย์บริเวณใบหน้า ผิวหนังที่มีบาดแผลและระคายเคืองเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และควรล้างมือทุกครั้งหลังทายาแก้ปวด สำหรับเด็กหรือคนท้อง คนที่เป็นโรคผิวหนัง มีผิวแพ้ง่าย ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้
การใช้ยาทาแก้ปวดควรเลือกให้เหมาะสมกับอาการปวดเมื่อยและดูส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกใช้ยาทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้แก่
- สารบรรเทาปวด
สารบรรเทาปวดในยาทาแก้ปวดแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกบรรเทาอาการปวดแตกต่างกันไป โดยชนิดที่พบได้บ่อย คือ สารบรรเทาปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ อย่างเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) และไดเอ็ทธิลเอมีนซาลิไซเลต (Diethylamine Salicylate) ตัวยาเหล่านี้จะซึมผ่านผิวหนังและออกฤทธิ์ต้านการอักเสบภายในกล้ามเนื้อ และช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณดังกล่าวนอกจากนี้ สารบรรเทาปวดอีกชนิด คือ เมนทอล (Menthol) และการบูรที่ช่วยปรับผิวหนังให้รู้สึกเย็น โดยตัวยาจะไปการกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึก ทำให้ลดอาการปวดได้ฉับพลัน โดยสามารถใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแบบไม่รุนแรงระหว่างออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เช่น อาการฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก กล้ามเนื้อยึด และอาการปวดอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากอักเสบของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยาทาแก้ปวดที่มีสารเหล่านี้อาจใช้แทนการประคบเย็นได้ชั่วคราว จึงเหมาะกับคนที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และทำกิจกรรมข้างนอกบ้านเป็นประจำ -
รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวด
ยาทาแก้ปวดจะมีอยู่หลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามความต้องการ คนที่ต้องการสัมผัสที่บางเบาอาจจะเลือกใช้ยาทาเนื้อเจล หากต้องการนวดเพื่อผ่อนคลายและบรรเทาปวดอาจใช้ยาทาเนื้อครีม หรือยารูปแบบสเปรย์ที่ใช้บรรเทาอาการปวดฉับพลันหรือต้องความสะดวกเพราะใช้งานโดยไม่ต้องใช้มือทาและนวด อย่างไรก็ตาม ควรต้องดูสารออกฤทธิ์หลักในยาทาแก้ปวดประกอบด้วย เพื่อเลือกตัวยาให้เหมาะสมกับอาการปวดเมื่อยกล้ามที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ ควรเลือกยาทาแก้ปวดที่มีคุณสมบัติหลากหลาย เช่น ให้ความรู้สึกร้อนหรือเย็นที่พอดี ไม่ทำให้รู้สึกแสบร้อนจนเกินไป ซึมซาบเร็วเพื่อลดความเหนอะหนะไม่สบายผิว และเลือกยาทาแก้ปวดที่มีกลิ่นหอม โดยบางยี่ห้อจะมีส่วนประกอบของยูจีนอล (Eugenol) ที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายและไม่ส่งกลิ่นรบกวนคนรอบข้าง เป็นต้น
-
สูตรเย็นและสูตรร้อน
ผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดสูตรเย็นใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน เช่น ข้อเท้าแพลงจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการหกล้ม หรือการถูกกระแทกจากการเล่นกีฬาที่เกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ส่วนผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดสูตรร้อนใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังบาดเจ็บ 72 ชั่วโมง โดยอาจสังเกตรอยช้ำที่กลายเป็นสีเขียวหรือสีม่วง อีกทั้งยาทาแก้ปวดสูตรร้อนยังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง อย่างปวดหลังหรือปวดเมื่อยตามส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย
นอกจากยาทาแก้ปวดแล้ว ยารับประทานก็สามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มักเป็นยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด (NSAID) แต่เนื่องจากเป็นยารับประทานและออกฤทธิ์ทั่วทั้งร่างกาย ยาทาจึงอาจใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ตรงจุดมากกว่า หากต้องการใช้ยารับประทานควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
เพื่อลดความเสี่ยงของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมมากจนเกินไป วอร์มอัพและคูลดาวน์เสมอ แบ่งวันออกกำลังกายและวันพักเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นฟู หากเป็นคนทำงานที่ต้องนั่ง ยืน หรือเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำ ๆ ควรพักการทำงานทุกชั่วโมง ยืดเส้นยืดสายเป็นประจำเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกท่านั่งและยืนที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของอาการปวดเมื่อย
สุดท้ายนี้ แม้ว่าอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ แต่บางครั้งอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็อาจเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บรุนแรงหรือเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรังและรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาด้วยตนเอง อาการปวดเมื่อยเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ หรือพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่มีแรง เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด เกิดอาการบวมแดง และเป็นไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง