โรคมะเร็งลำไส้อาจเป็นชื่อที่ฟังดูน่ากลัวสำหรับหลายคน แต่ยังมีโอกาสรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะเมื่อตรวจเจอเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกในระยะแรก โดยทั่วไปผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการมะเร็งลำไส้แสดงออกมา ดังนั้น การหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามากขึ้น
โรคมะเร็งลำไส้เกิดจากติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในผนังลำไส้ โดยชนิดของโรคสามารถแบ่งได้ตามตำแหน่งที่พบติ่งเนื้อ อย่างโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และโรคมะเร็งลำไส้ตรง แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นกับทั้งสองส่วน โดยเนื้องอกมักเกิดขึ้นบริเวณผนังลำไส้ก่อนจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และอาจส่งผลให้เกิดอาการของมะเร็งลำไส้ขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
อาการมะเร็งลำไส้ มีอะไรบ้าง ?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าโรคมะเร็งลำไส้มักไม่แสดงอาการให้สังเกตเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก อีกทั้งอาการของโรคมะเร็งยังมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง ขนาด และปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ป่วย จึงอาจทำให้สังเกตได้ยาก แต่อาการมะเร็งลำไส้ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด และขับแก๊สมากผิดปกติ เป็นต้น
- อุจจาระมีสีเปลี่ยนไป เช่น อุจจาระสีคล้ำ หรือมีเลือดปน
- ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น มีรูปทรงเรียว ก้อนเล็กคล้ายกระสุน อุจจาระแข็งหรือเหลวผิดปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยลักษณะเหล่านี้ยังพบได้บ่อยในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้
- เลือดออกทางทวารหนัก
- ตะคริวที่ท้อง
- เบื่ออาหารและน้ำหนักลดลงผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก รู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งลำไส้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและทำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเกิดความสบายใจ โดยปกติแล้วบุคคลทั่วไปควรเริ่มเข้ารับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 50 ปี แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วกว่าและบ่อยกว่าคนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น รวมทั้งผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ที่ต้องทำเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถเริ่มทำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันและอาจลดความเสี่ยงของโรคลงได้ เช่น
-
รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีให้มากขึ้น
การรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ เพราะในอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อกันว่าสามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์และช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้
-
ลดอาหารไขมันสูงและอาหารสุกเกินพอดี
ควรลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์และเนื้อแดง เนื่องจากการรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรค อีกทั้งอาหารที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูงและสุกเกินพอดีมักมีสารประกอบที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง เช่น เฮเทอโรไซคลิกเอมีน (Heterocyclic Amines) และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Poly Aromatic Hydrocarbon) เป็นต้น
-
งดดื่มแอลกอฮอล์
การย่อยสลายแอลกอฮอล์ภายในร่างกายส่งผลให้เกิดสารแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ที่เป็นสารก่อมะเร็ง และแอลกอฮอล์ยังออกฤทธิ์กระตุ้นสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ รวมทั้งชะลอกระบวนการการซ่อมแซมของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้ ควรดื่มในปริมาณที่พอดี หรือปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์
-
เลิกบุหรี่
หลายคนอาจคิดว่าบุหรี่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วเมื่อร่างกายได้รับสารพิษในบุหรี่และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด สารพิษเหล่านั้นอาจเข้าไปขัดขวางการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ทำให้เกิดสารพิษตกค้างและภาวะเสื่อมของเซลล์ นอกจากนี้ สารพิษในบุหรี่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่บางอีกชนิดด้วย ดังนั้น การเลิกบุหรี่จึงอาจช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ภายในร่างกาย หากมีอาการติดบุหรี่ควรไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา
-
หมั่นออกกำลังกายและรักษาน้ำหนัก
การออกกำลังกายจะช่วยให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยในแต่ละสัปดาห์ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วัน อย่างต่ำครั้งละ 30 นาที ขณะเดียวกันควรทำควบคู่ไปกับการคุมอาหาร เพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่เหมาะสมของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามส่วนสูง หากพบปัญหาในการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
สุดท้ายนี้ แม้ว่าอาการมะเร็งลำไส้อาจเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปหรือคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ แต่ถ้าทราบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว พร้อมทั้งมีอาการของโรคเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งแต่เนิ่น ๆ โดยเบื้องต้นแพทย์อาจทำการซักประวัติการเจ็บป่วย ตรวจหาสาเหตุของภาวะเลือดจางที่อาจเป็นสัญญาณของการมีเลือดออกในลำไส้และกระเพาะ หรืออาจทำการส่องกล้องภายในลำไส้เพื่อหาความผิดปกติเพิ่มเติม