วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่ทุกคนควรตระหนัก เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาการวัณโรคมักส่งผลต่อปอดเป็นหลัก หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตับ ไต หัวใจ และสมองได้ อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ซึ่งการรักษาวัณโรคอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายตนเองอยู่เสมอ หากมีสัญญาณผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว
อาการวัณโรคที่อาจสังเกตได้
อาการวัณโรคที่ปอดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ เริ่มจากระยะแฝงตัว ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายป้องกันเชื้อแพร่กระจาย จากนั้นจึงเข้าสู่ระยะแสดงอาการ ซึ่งการดำเนินโรคจากระยะแฝงตัวไปสู่ระยะแสดงอาการของผู้ป่วยแต่ละคนอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน บางคนอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่บางคนอาจใช้เวลากว่าหลายปี
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการผิดปกติในหลายรูปแบบที่อาจสังเกตได้ เช่น
- รู้สึกไม่สบายตัว
- ไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ หรือไอแบบมีเลือดปน
- การหายใจมีปัญหา
- เจ็บหน้าอก
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน
- รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- ไม่อยากอาหาร
- น้ำหนักลดลง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
หากผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสม วัณโรคที่เป็นอยู่อาจรุนแรงขึ้นจนแพร่เข้าสู่กระแสเลือดลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น
- เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ข้อต่อในร่างกายอย่างบริเวณหัวเข่า ซึ่งทำให้ปวดข้อ ข้อแข็ง หรือข้อบวม
- เกิดภาวะแทรกซ้อนที่กระดูกสันหลัง จนทำให้ปวดหลัง หรือมีอาการหลังแข็ง
- เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตับและไต ทำให้อวัยวะทั้ง 2 ส่วนซึ่งมีหน้าที่ช่วยกำจัดของเสียทำงานบกพร่อง
- เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยก็ตาม โดยอาจทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบหัวใจติดเชื้อ จนเกิดการอักเสบและมีการสะสมของเหลวในเนื้อเยื่อดังกล่าว ซึ่งอาจกระทบต่อการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อชีวิต
นอกจากอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แล้ว ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคมากขึ้นได้ เช่น เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเอดส์ ขาดการดูแลทางการแพทย์ เคยใช้สารเสพติด ทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย ทำงานหรืออาศัยอยู่ในสถานที่ที่ดูแลผู้อื่นอย่างบ้านพักคนชรา เคยไปเที่ยวหรืออาศัยอยู่ที่ประเทศรัสเซีย กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน ทวีปเอเชีย แอฟริกา หรือยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจเสี่ยงเกิดการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค เป็นต้น
จะทำอย่างไรเมื่อพบว่าป่วยเป็นวัณโรค ?
วัณโรคอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกาย อีกทั้งยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อพบว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าวหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อรักษาอาการของตนเองและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม และควรใช้ยาให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เพราะหากหยุดใช้ยาก่อนกำหนดหรือลืมใช้ยา อาจทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ดื้อยาได้
- หากเป็นวัณโรคระยะแสดงอาการและอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรักษา ไม่ควรออกจากบ้านหรือไปทำงาน แต่หากมีความจำเป็น ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- ทำให้ห้องหรือบ้านของตนเองมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคจะแพร่กระจายได้ดีในพื้นที่ปิด แคบ และอากาศไม่ถ่ายเท
- ใช้กระดาษชำระปิดปากเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ แล้วนำกระดาษชำระที่ใช้แล้วทิ้งลงในถุงและมัดปากถุงให้เรียบร้อยก่อนนำไปทิ้งถังขยะ