อาการสายตาสั้น รู้จักวิธีสังเกตและแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการสายตาสั้นเป็นปัญหาสายตาที่พบได้ทั่วไป สัญญาณหนึ่งของอาการคือมองเห็นสิ่งของในระยะไกลไม่ชัดเจน โดยสาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม และการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน เช่น การเพ่งอ่านหนังสือหรือการใช้คอมพิวเตอร์บ่อย ๆ ซึ่งการรักษาอาการสายตาสั้นด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น เช่น การใส่แว่น การใส่คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัด 

อาการสายตาสั้นมักเกิดร่วมกับอาการสายตาเอียง และพบได้บ่อยในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น โดยผู้ที่มีอาการสายตาสั้นมักมีกระจกตาโค้งมากเกินไปหรือมีลูกตายาวเกินไป ซึ่งอาจทำให้แสงที่เข้าตาตกก่อนถึงจอประสาทตา จึงทำให้การมองเห็นพร่ามัวหรือไม่ชัดเจน ทั้งนี้ สายตาอาจสั้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น

อาการสายตาสั้น

วิธีสังเกตอาการสายตาสั้น 

อาการสายตาสั้นอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น

  • มองเห็นวัตถุ ป้าย หรือตัวหนังสือในระยะไกลไม่ชัดเจน หรือตาพร่ามัว 
  • ต้องหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น
  • ปวดศีรษะ
  • ขยี้ตาบ่อย
  • มีอาการตาล้า เช่น น้ำตาไหล ตาแดง แสบตา ปวดตา 

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเด็กที่มีอาการสายตาสั้นได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น กะพริบตาบ่อย ถือสิ่งของใกล้ใบหน้าเพื่อดูหรืออ่าน นั่งใกล้จอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์มากกว่าปกติ 

แนวทางการรักษาอาการสายตาสั้นอย่างเหมาะสม

การรักษาอาการสายตาสั้นอาจมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้การมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการรักษาอาการสายตาสั้นมีหลายวิธี เช่น

  • การใส่แว่นสายตา วิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่ใช้กันทั่วไปเพื่อช่วยในการมองเห็น นอกจากเลนส์แว่นตาจะช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้นได้แล้ว ยังสามารถใช้แก้ปัญหาสายตาอื่น ๆ เช่น สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ 
  • การใส่คอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์เป็นเลนส์กลมบางที่ใช้วางบนดวงตาเพื่อแก้ปัญหาสายตา แต่การใส่คอนแทคเลนส์อาจจำเป็นต้องรักษาความสะอาดในการใช้งาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • การใส่เลนส์กดตา (Ortho-k) เลนส์ชนิดนี้เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดหนึ่งที่อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการสายตาสั้นไม่มาก มักใส่ตอนกลางคืนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหรืออาจช่วยชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น 
  • การทำเลสิก (LASIK) การทำเลสิกเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการสายตาสั้น โดยแพทย์อาจใช้เลเซอร์เพื่อเปิดส่วนบนของกระจกตาออก ปรับความโค้งของกระจกตาชั้นใน และปิดส่วนบนของกระจกตากลับเข้าที่เดิม

หากสายตาสั้นมาก แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม (Refractive lens exchange) ซึ่งเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาธรรมชาติ และนำเลนส์ตาเทียมมาใส่แทน โดยเลนส์ตาเทียมอาจช่วยให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อชะลออาการสายตาสั้น ควรใส่แว่นที่ตรงกับค่าสายตา อ่านหนังสือหรือทำงานในพื้นที่ที่มีแสงเพียงพอ และควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ทุก ๆ 20 นาที โดยการมองไปยังสิ่งของที่อยู่ในระยะไกลประมาณ 20 วินาที นอกจากนี้ ควรตรวจวัดสายตาเป็นประจำ เพราะอาจช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันที หากสายตาสั้นมีอาการแย่ลงหรือมีปัญหาทางสายตาอื่น ๆ เพิ่มเติม