อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ วิธีสังเกต และคำแนะนำในเบื้องต้น

อาการหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นกลุ่มอาการสำคัญที่ทุกคนควรรู้จัก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เช่น อายุเยอะ เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ความดันสูง คอเลสเตอรอลสูง อ้วน คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อดนอนบ่อย ๆ และเครียดสะสม เนื่องจากโรคนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD) เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดที่คอยลำเลียงเลือดสู่หัวใจมีคราบไขมันไปเกาะตัวสะสมอยู่ จนส่งผลให้หลอดเลือดตีบแคบและเลือดไหลเวียนไปยังหัวใจยากขึ้น โดยหากหลอดเลือดมีการตีบแคบไปนาน ๆ กล้ามเนื้อหัวใจก็อาจอ่อนแอลงจนเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจอื่นตามมาได้

อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ

อาการหลอดเลือดหัวใจตีบ วิธีสังเกตด้วยตัวเองในเบื้องต้น

อาการหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นกลุ่มอาการที่สังเกตได้ยากในช่วงแรก เนื่องจากโรคนี้จะเริ่มส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการก็ต่อเมื่อผนังหลอดเลือดมีไขมันไปเกาะค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งมักใช้เวลานานหลายปี

โดยอาการเริ่มแรกและอาการหลักที่มักพบได้เมื่อผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการก็คือ อาการเจ็บแน่นตรงกลางหน้าอกเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย คล้ายกับกำลังถูกของหนักกดทับอยู่ ซึ่งอาการมักจะเกิดตอนหัวใจต้องการเลือดมากขึ้น เช่น ตอนออกกำลังกาย ตอนที่ร่างกายมีการใช้แรงมาก ๆ หรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง โดยอาการจะเกิดขึ้นหลายนาทีก่อนจะค่อย ๆ บรรเทาลง

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วยก็เช่น

  • หายใจไม่อิ่ม 
  • อ่อนเพลีย
  • อาการเจ็บหน้าอกแพร่กระจายไปยังบริเวณหัวไหล่ แขน คอ หลัง และขากรรไกร
  • เวียนศีรษะ
  • ใจสั่น 
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ

ทั้งนี้ แม้อาการหลอดเลือดหัวใจตีบจะมักค่อย ๆ เกิดในระยะเวลาหลายปี แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วยโรคนี้เกิดการฉีกขาด จนก่อให้เกิดลิ่มเลือดบริเวณดังกล่าว ซึ่งลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นก็อาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดสู่หัวใจถูกขัดขวาง จนนำไปสู่อาการหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างฉับพลันได้ โดยในกรณีนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ คนใกล้ตัวผู้ป่วย และผู้ที่มีความเสี่ยง

สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการตรวจ การรักษา และรับคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรับมือที่เหมาะสม

แต่สำหรับผู้ที่เกิดอาการอย่างฉับพลัน หรืออาการเกิดขึ้นแม้แต่ในช่วงที่อยู่เฉย ๆ โดยที่ไม่ได้กำลังออกแรง ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์หรือโทรแจ้งสายด่วนที่เบอร์ 1669 ทันที

ผู้ที่พบเห็นหรือคนใกล้ตัวผู้ป่วยควรพาไปผู้ป่วยโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 30–60 นาทีแรกหลังจากมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ  เนื่องจากยิ่งผู้ที่ป่วยได้รับการรักษาที่เร็วเท่าไร ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการเสียชีวิตก็จะยิ่งลดลง

ส่วนคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ มีความดันสูง มีคอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อดนอนบ่อย ๆ และมีความเครียดสะสม ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงควรหมั่นสังเกตอาการหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เสมอ

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ก็อาจจะปรับพฤติกรรมบางอย่างร่วมด้วย เช่น ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายให้มากขึ้น ลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันและโซเดียมสูง ควบคุมความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากกำลังป่วยเป็นโรคใด ๆ อยู่ ก็ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงไปด้วยอีกทาง