อาการหลังคลอด เรื่องที่คุณแม่ควรรู้และดูแลตัวเอง

ช่วงเวลาหลังคลอด คุณแม่ลูกอ่อนอาจง่วนอยู่กับการดูแลเจ้าตัวน้อยทั้งวันทั้งคืนจนละเลยการดูแลสุขภาพของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าระยะนี้เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังฟื้นตัวหลังจากต้องอุ้มท้องนานถึง 9 เดือน คุณแม่ควรเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และพร้อมดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ด้วย

Symptoms after Delivery

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่หลังคลอด

ระยะหลังคลอด หรือประมาณ 6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอดลูก เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลงและกำลังฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ โดยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่คุณแม่มักประสบในช่วงนี้ มีดังนี้

1. อาการเจ็บแผลผ่าคลอด

โดยปกติคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ซึ่งอาจใช้เวลาต่ออีกประมาณ 6-8 สัปดาห์ แผลผ่าคลอดจึงปิดสนิทและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ในระหว่างนี้จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อแผล อย่างการทำงานบ้าน การออกกำลังกาย หรือการมีเพศสัมพันธ์ แต่ให้ลุกเดินช้า ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและอาการท้องผูก นอกจากนั้น ควรใช้มือประคองหน้าท้องไว้ระหว่างที่ไอหรือจามด้วย เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับแผล

2. อาการเจ็บช่องคลอด

คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติและต้องตัดฝีเย็บเพื่อขยายปากช่องคลอด หรือช่องคลอดฉีกขาดระหว่างคลอด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณช่องคลอดราว 2-3 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาที่แผลสมานตัวจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผลด้วย

โดยคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลได้

  • นั่งบนหมอนหรือเบาะรองนั่งทรงวงแหวน
  • ใช้เจลเก็บความเย็นประคบที่แผล
  • ใช้แผ่นแปะที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากต้นวิชฮาเซล โดยนำไปแช่เย็นแล้ววางลงบนผ้าอนามัย ก่อนสวมใส่ชั้นในตามปกติ เพราะสารสกัดชนิดนี้อาจมีสรรพคุณช่วยลดอาการคัน อาการเจ็บปวด หรือการอักเสบได้
  • นั่งแช่น้ำอุ่นประมาณ 5 นาที โดยเติมน้ำในอ่างให้มิดสะโพก ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าน้ำเย็นช่วยให้อาการเจ็บทุเลาลงมากกว่า สามารถเปลี่ยนจากการแช่น้ำอุ่นเป็นน้ำเย็นได้เช่นกัน
  • ใช้ขวดพลาสติกชนิดบีบพ่นได้พ่นน้ำอุ่นลงบนฝีเย็บ ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดและทวารหนัก
  • รับประทานยาแก้ปวดหรือทายาชาชนิดครีมหรือสเปรย์ รวมถึงรับประทานยาระบายหรือยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มเพื่อป้องกันอาการท้องผูก และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้ยาชนิดใด ๆ เสมอ

แต่หากคุณแม่รู้สึกเจ็บแผลมาก แผลสมานตัวช้า หรือรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้

3. อาการคัดเต้านมหลังคลอดลูก

การให้นมลูกอาจช่วยลดอาการคัดตึงเต้านมได้ ซึ่งเต้านมที่คัดตึงมักส่งผลให้ลูกน้อยดูดนมได้ยาก คุณแม่จึงควรบีบน้ำนมด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มนม เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาเล็กน้อยก่อนให้ลูกเข้าเต้า ซึ่งการประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นหรือการอาบน้ำอุ่นก่อนให้ลูกดูดนม อาจช่วยให้น้ำนมไหลออกมาง่ายขึ้น นอกจากนั้น การใช้ผ้าเย็นประคบเต้านมระหว่างที่ให้นมหรือการรับประทานยาแก้ปวดก็เป็นวิธีที่อาจช่วยลดอาการคัดตึงเต้านมได้เช่นกัน

4. ริดสีดวงทวารและท้องผูก

อาการเจ็บระหว่างถ่ายอุจจาระ หรืออาการบวมรอบ ๆ ทวารหนัก อาจเป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือลำไส้ตรงส่วนล่างมีการโป่งพอง หากคุณแม่พบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ในระหว่างเข้ารับการรักษา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือคันจากริดสีดวง

  • ทาครีมรักษาริดสีดวง หรือใช้ยาเหน็บที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซน
  • ใช้แผ่นแปะที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากต้นวิชฮาเซล หรือสารที่ทำให้รู้สึกชา
  • นั่งแช่น้ำอุ่น 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง

ทั้งนี้ แผลจากการตัดฝีเย็บหรือริดสีดวงทวารอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บจนไม่อยากถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจส่งผลให้ท้องผูกตามมาได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรเน้นกินอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างผัก ผลไม้ หรือธัญพืช และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังมีปัญหาในการถ่ายอุจจาระ ควรไปปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

5. ภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้

การเกร็งกล้ามเนื้อระหว่างคลอดอาจทำให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ จึงอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บครรภ์คลอดนานผิดปกติอาจมีโอกาสเป็นภาวะนี้สูงขึ้น ซึ่งอาการผิดปกติต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปใน 2-3 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ในระหว่างนี้คุณแม่ควรสวมใส่ผ้าอนามัย และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยท่าฝึกกระชับช่องคลอด (Kegel Excercises) เป็นประจำ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวกลับมาทำงานเป็นปกติได้เร็วขึ้น

6. อาการร้อนวูบวาบและหนาวใน

ระดับฮอร์โมนและการไหลเวียนเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากคลอดเจ้าตัวน้อย อาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิภายในร่างกาย และทำให้คุณแม่รู้สึกร้อนวูบวาบหรือหนาวผิดปกติ

7. น้ำคาวปลา

คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกน้อยจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นของเหลวที่ประกอบด้วยเลือด เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอก และแบคทีเรีย ในระยะแรกน้ำคาวปลาจะมีสีแดงเข้มและข้นคล้ายประจำเดือน หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เหลวขึ้นและมีสีอ่อนลงจนกลายเป็นสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองอ่อน โดยปกติน้ำคาวปลาจะหมดภายใน 2-4 สัปดาห์หลังคลอด แม้บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานกว่านั้น แต่ไม่ควรนานเกิน 6 สัปดาห์

8. น้ำหนักลดลงหลังคลอด

รูปร่างของคุณแม่หลังจากคลอดลูกน้อยในระยะแรกจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยส่วนใหญ่คุณแม่เพิ่งคลอดจะมีน้ำหนักลดลงประมาณ 6 กิโลกรัม เนื่องจากน้ำหนักของทารกในครรภ์ รก และน้ำคร่ำได้หายไปพร้อมการคลอด หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ ขับของเหลวส่วนเกินออกมา ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงไปอีก ทั้งนี้ การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีและกลับมามีรูปร่างกระชับดังเดิม

9. ผมร่วง

ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้อัตราการงอกใหม่ของเส้นผมสูงขึ้น หญิงตั้งครรภ์จึงดูมีผมดกหนา ในทางกลับกัน ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงหลังจากคลอดลูกน้อยนั้นก็ทำให้ผมร่วงมากขึ้นด้วย ซึ่งอัตราการร่วงจะค่อย ๆ น้อยลงและกลับสู่ภาวะปกติภายใน 5 เดือน

10. ผิวแตกลาย

เส้นที่ปรากฏบริเวณผิวหนังหรือที่เรียกว่าผิวแตกลาย เกิดจากการขยายขนาดของผิวหนังอย่างรวดเร็วอย่างการตั้งครรภ์ โดยจะมีลักษณะเป็นริ้ว มักมีสีชมพูหรือสีแดงตามสภาพผิวหนังของแต่ละคน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์อาจสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ได้ชัดเจนจากผิวหนังบริเวณหน้าท้อง และรอยแตกลายนี้จะยังคงอยู่แม้คลอดลูกแล้วก็ตาม แต่สีที่เข้มจะค่อย ๆ จางลงเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนั้น การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เกิดฝ้าบนใบหน้าด้วย ซึ่งรอยฝ้าจะค่อย ๆ จางลงหลังจากคลอดลูกเช่นกัน แต่หากต้องการลดเลือนรอยแตกลายดังกล่าว อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้เจลหรือครีมบำรุงต่าง ๆ หรืออาจใช้วิธีการอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ

การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของคุณแม่หลังคลอด

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คุณแม่ลูกอ่อนอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และสภาพจิตใจด้วย ดังนี้

1. อาการเศร้าหลังคลอด

เป็นปกติที่คุณแม่จะมีอาการหงุดหงิด เศร้า เสียใจ หรือวิตกกังวล ในช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ความอ่อนเพลีย การคลอดที่ผิดปกติอย่างการคลอดก่อนกำหนด หรือความไม่คุ้นชินกับบทบาทใหม่อย่างการเป็นคุณแม่ โดยอารมณ์ของคุณแม่อาจกลับสู่ภาวะปกติเองภายใน 1-2 สัปดาห์

2. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

แม้ความรู้สึกเศร้าจะเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด แต่อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิดในใจ หรืออารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียด อาจมีโอกาสเผชิญภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากกว่าปกติ ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการบ่งชี้ของภาวะซึมเศร้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที

คำแนะนำในการดูตัวเองของคุณแม่หลังคลอด

คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีและอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยหาเวลาให้ตัวเองได้พักให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างการนอนหลับเมื่อลูกนอนหลับ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์หลังคลอดลูก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักตัวของลูกน้อย
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำและเปลี่ยนผ้าอ้อม รวมถึงก่อนป้อนนมหรือให้อาหารเจ้าตัวน้อย
  • เสริมสร้างอารมณ์และทัศนคติที่ดีให้แก่ตนเอง อย่างการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสบายใจ
  • สร้างตารางกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันอย่างคร่าว ๆ ไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป เพราะเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะยังไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ จึงควรปรับพฤติกรรมไปทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันไดในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด
  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานประจำ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
  • หากรู้สึกเหนื่อยล้า ควรหาผู้ช่วยมาดูแลลูกน้อย เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยง เป็นต้น

อาการหลังคลอดแบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ ?

คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ หรือเลือดไหลออกมามากขึ้น
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่มากผิดปกติหลุดออกมาจากช่องคลอด
  • หนาวสั่น หรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือปวดมากผิดปกติ
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นรุนแรง
  • เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือใจสั่น
  • แผลผ่าคลอด หรือแผลจากการตัดฝีเย็บ มีอาการบวม แดง หรือมีหนอง
  • ปวดท้องส่วนล่าง
  • เจ็บเต้านม เต้านมแดง และรู้สึกร้อนเมื่อสัมผัส
  • เจ็บขาร่วมกับมีอาการบวมแดง
  • ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์