อาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ รู้จักวิธีสังเกตและรับมืออย่างถูกต้อง

อาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ คืออาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะแรกของการเป็นมะเร็งที่บริเวณส่วนต่าง ๆ ของลำคอ เช่น ทอนซิล คอหอย กล่องเสียง โดยมะเร็งลำคอส่วนใหญ่มักมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การรู้จักอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ อาจช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น

มะเร็งลำคออาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เกิดการกลายพันธุ์และมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนลุกลามไปยังเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำคอมีหลายปัจจัย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) หรือการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เช่น นิกเกิล กรดซัลฟิวริก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดมะเร็งลำคอและนำมาสู่อาการมะเร็งลำคอเริ่มแรกได้

First Symptoms of Throat Cancer

สังเกตสัญญาณอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ

อาการเริ่มแรกมะเร็งลำคออาจมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดมะเร็งลำคอ โดยทั่วไปแล้ว อาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น

  • เจ็บคอเรื้อรัง 
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ
  • เสียงแหบ 
  • ไอเรื้อรัง และในบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย
  • กลืนลำบาก
  • เจ็บหรือปวดหู
  • สัมผัสเจอก้อนที่คอหรือบริเวณท้ายทอย โดยก้อนเนื้อมะเร็งมักมีขนาดใหญ่เกิน 1 นิ้ว แข็ง และมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

วิธีรับมือเมื่อพบอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอก่อนเกิดอันตราย

ในบางครั้งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่อาการที่เป็นสัญญาณของอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ จึงควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นและยังคงมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ

โดยแพทย์อาจใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ เช่น การตรวจร่างกาย การส่องกล้องบริเวณลำคอ การตรวจชิ้นเนื้อ การทำซีที สแกน (CT scan) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการตรวจด้วยเครื่องเพทสแกน (PET Scan)

หลังจากทราบผลการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาโรคมะเร็งลำคอ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของมะเร็งลำคอ บริเวณที่เกิดมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ที่เข้ารับการรักษา โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาต่าง ๆ เพื่อรักษามะเร็งลำคอ เช่น การฉายรังสี การทำคีโม การผ่าตัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้า หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเริ่มแรกมะเร็งลำคอ หรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำคอ ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ  เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และออกกำลังกายเป็นประจำ โดยวิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการมะเร็งลำคอรุนแรงขึ้นหรือลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำคอได้