อาการเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นกลุ่มอาการที่ทุกคนควรสังเกตและทำความรู้จัก โดยเฉพาะผู้ที่มีคนใกล้ตัวหรือตนเองมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง มีภาวะเบาหวาน มีภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ หรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
โดยปกติ สมองจะต้องคอยรับน้ำตาลและออกซิเจนจากเลือดที่ไหลเวียนมาจากหลอดเลือดสมอง เพื่อให้สมองสามารถทำงานได้ แต่หากหลอดเลือดสมองเกิดการอุดตันหรือหดตัวลง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) เลือดที่ควรจะไหลเวียนไปเลี้ยงสมองก็จะไม่สามารถไหลเวียนไปได้
เมื่อสมองมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไปเพียงพอ สมองก็จะเริ่มหยุดทำงานและส่งผลให้ร่างกายผู้ที่ป่วยเกิดอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น เซลล์สมองตาย สมองได้รับความเสียหายถาวร หรือบางคนอาจเสียชีวิต หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อให้สมองได้รับเลือดอย่างทันท่วงที
วิธีสังเกตอาการเส้นเลือดในสมองตีบ
เนื่องจากสมองมีอยู่หลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันไป อาการเส้นเลือดในสมองตีบจึงอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับส่วนของสมองที่ขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มอาการที่มักเกิดร่วมกันในผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งสามารถใช้สังเกตได้ โดยลักษณะอาการจะมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ได้แก่
- อาการทางดวงตา เช่น มองเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน หรือดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น
- รู้สึกชาหรืออ่อนแรกครึ่งซีกของร่างกาย
- เดินเซ หรือเดินลำบาก
- ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งย้อย
- เวียนศีรษะรุนแรง รู้สึกคล้ายบ้านหมุน
- พูดลำบาก หรือบางคนอาจไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำได้
- ปวดหรือตึงบริเวณลำคอ
- รู้สึกสับสน
- ปวดศีรษะขั้นรุนแรง
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลมหรือหมดสติ
ข้อควรปฏิบัติเมื่อตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ
เส้นเลือดในสมองตีบเป็นภาวะที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วง 60 นาทีหลังมีอาการ ยิ่งผู้ที่ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งลดลง ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเกิดอาการที่เข้าข่ายอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ให้รีบไปพบแพทย์ หรือโทรเบอร์ฉุกเฉิน 1669 ทันที
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบเป็นภาวะรุนแรง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรดูแลตัวเองอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงนั้น โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีภาวะเบาหวาน
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
โดยวิธีที่สามารถเริ่มทำได้ก็เช่น ลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ควบคุมน้ำหนักตัว ไปตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดหากมีโรคประจำตัวใด ๆ อยู่