อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ คืออาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลมแต่ยังไม่หมดสติ โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ เหงื่อออก คลื่นไส้ พูดไม่ชัด การได้ยินผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หรือตามัว ซึ่งอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบมักดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก
อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น การล้ม การตกบันได ดังนั้น การเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบอย่างถูกต้องอาจช่วยป้องกันการได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายต่าง ๆ จากอุบัติเหตุเหล่านี้ได้
สาเหตุของอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ
อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบมักเกิดขึ้นเมื่อเลือดที่ไหลไปหล่อเลี้ยงสมองลดลงชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และทำให้รู้สึกหน้ามืดเหมือนจะวูบหรือเป็นลมได้
1. การลุกยืนอย่างรวดเร็ว
การลุกยืนทันทีหลังจากนั่งหรือนอนอาจส่งผลให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบได้ เมื่อลุกขึ้นยืน หลอดเลือดอาจหดตัวลงเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดสะสมที่ขา ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลกลับไปยังหัวใจน้อยลง เมื่อหัวใจมีเลือดที่ส่งไปยังอวัยวะ กล้ามเนื้อ หรือสมองลดลง ก็อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงชั่วคราว จึงรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ
2. การถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ความเครียด หรือความเจ็บปวด
อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อความรู้สึกกลัว รู้สึกเครียด หรือรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงต่อสถานการณ์บางอย่าง เช่น การเห็นเลือด การฉีดยา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกเหล่านี้ อาจส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบได้
3. การอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน
การอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือการใส่เสื้อผ้าหนาหลายชั้น อาจทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น และอาจส่งผลให้ความดันโลหิต จังหวะการเต้นของหัวใจ และการหายใจเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจนำมาสู่อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ หรืออาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้
4. ภาวะขาดน้ำ
อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบอาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติจากหลายสาเหตุ เช่น เหงื่อออก อาเจียน ท้องเสีย เมื่อน้ำในร่างกายมีไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลง ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง และมีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ
นอกจากนี้ยังอาจสังเกตภาวะขาดน้ำได้จากอาการอื่น ๆ เช่น ปากและผิวแห้ง อ่อนเพลีย หิวน้ำมากกว่าปกติ เวียนศีรษะ
5. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ โดยน้ำตาลในเลือดเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย หากน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไป จนมีไม่เพียงพอสำหรับการทำงานของร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ เวียนศีรษะ ตัวซีด เหงื่อออก คลื่นไส้ และหัวใจเต้นเร็ว
6. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคที่จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ เช่น เต้นเร็วเกินไป เต้นช้าเกินไป ซึ่งโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ และทำให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจสังเกตได้ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ หรือหายใจถี่
7. โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดอาจเกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ โดยกล้ามเนื้อที่บริเวณที่ขาดเลือดอาจได้รับความเสียหายหรือตายได้ โดยโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากรักษาไม่ทันเวลา โดยหนึ่งในสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด คืออาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบเมื่อใช้แรงหรือลุกขึ้นยืน
หากมีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอกร้าวไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น แขนซ้าย ไหล่ หลัง หรือคอ เหงื่อออกมากผิดปกติ อ่อนเพลีย หายใจถี่ ใจสั่น หากสงสัยว่าเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือด ควรเรียกรถพยาบาลและรีบไปพบแพทย์ทันที
8. การใช้ยาต่าง ๆ
การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจบางชนิด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาเหล่านี้ คือ อาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
วิธีรับมืออาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบอย่างเหมาะสม
หากมีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ ผู้ที่มีอาการอาจรับมือเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- หากรู้สึกมีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ ควรนั่งพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อป้องกันการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
- ใช้ยาดม โดยยาดมอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะได้
- นอนราบไปกับพื้นและยกขาขึ้น การทำท่านี้อาจช่วยให้การไหลเวียนเลือดกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบได้
- กำมือให้แน่นและค้างไว้สักพัก จากนั้นคลายมือออก การทำท่านี้อาจช่วยเพิ่มความดันโลหิต และบรรเทาอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบได้
- ปรับเปลี่ยนวิธีการยืน ควรลุกขึ้นยืนช้า ๆ อย่างระมัดระวัง
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบ เช่น การอยู่ในห้องที่มีอากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก การออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่ร้อนจัด
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินอาหารที่มีเกลือและโพแทสเซียมเพิ่มมากขึ้น กินอาหารในหนึ่งมื้อให้น้อยลง แบ่งมื้ออาหารต่อวันเพิ่มขึ้น โดยอาจช่วยให้ความดันโลหิตคงที่มากขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
ถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบมักไม่เป็นอันตราย แต่ในบางสาเหตุก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น หากมีอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบบ่อย หรือมีสัญญาณบ่งบอกปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และหัวใจเต้นผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และทำการรักษาอย่างเหมาะสม
หากอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ควรลองหาสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหมือนจะวูบแต่ไม่วูบในอนาคต