อาการแพ้ครีม เป็นคำที่หลายคนใช้อธิบายอาการผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น การมีสิวขึ้น มีผดเล็ก ๆ หรือผื่นแดง คันผิว ผิวลอก มีอาการแสบร้อนและเจ็บปวดที่ผิวหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare Products) ไม่ว่าจะเป็นเซรั่ม โลชั่น ครีมกันแดด และครีมทาผิวที่มีส่วนประกอบของสารบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ครีม
อาการผิดปกติที่ผิวหนังหลังใช้ครีมมีหลายประเภท ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของผิว การระคายเคืองเมื่อสัมผัสสารเคมีในครีมบำรุง หรืออาการแพ้ครีมที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติ การทำความเข้าใจสาเหตุของอาการแพ้ครีมและลักษณะอาการทางผิวหนัง จะช่วยให้เราดูแลผิวให้หายเป็นปกติได้เร็วขึ้น และป้องกันอาการที่ผิวหนังได้อย่างตรงจุด
รู้จักความแตกต่างของอาการแพ้ครีม
อาการแพ้ครีมของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจเกิดอาการทันทีหรือไม่นานนักหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง แต่บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของอาการแพ้ครีม และสภาพผิวของแต่ละคน อาการแพ้ครีมแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1. อาการแพ้ครีมแบบมีสิวขึ้น
ใช้ครีมแล้วสิวขึ้นเป็นปฏิกิริยาที่ผิวหนังที่พบได้บ่อย คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางอย่างแล้วมีสิวขึ้นมักเรียกอาการนี้ว่าอาการแพ้ครีม แต่ความจริงแล้วอาการนี้ไม่ได้เกิดจากอาการแพ้โดยตรง แต่อาจเกิดจาก 2 สาเหตุ ดังต่อไปนี้
การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการอุดตัน
สิวขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีน้ำมัน หรือสารที่ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน เช่น ลาโนลิน (Lanolin) โกโก้บัตเตอร์ (Cocoa butter) และเนยมะพร้าว (Coconut butter) อาจทำให้เกิดสิวอุดตัน เช่น สิวหัวดำ และสิวหัวขาว ซึ่งพบได้บ่อยที่ใบหน้าของคนที่มีผิวมัน หากล้างหน้าไม่สะอาดจะยิ่งทำให้ความมันและสิ่งสกปรกตกค้าง และไปอุดตันภายในรูขุมขน ทำให้เป็นสิวได้ง่าย
การใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว
การดันสิว (Skin Purging) คือการมีสิวขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว เช่น สารในกลุ่ม BHA และ AHA รวมถึงสารอื่น เช่น เรตินอล และเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ทำให้สิวใต้ผิวหนังถูกดันออกมา โดยมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ผิวแดง แห้ง ลอก
- มีสิวเห่อขึ้นมาในช่วงแรกที่เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ โดยอาจเป็นสิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือสิวอักเสบ เช่น สิวตุ่มแดง และสิวหัวหนอง
- ตำแหน่งที่มีสิวขึ้น มักเป็นบริเวณที่สิวขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว
สิวจะขึ้นช่วงสั้น ๆ หลังเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ จากนั้นจะยุบลง และไม่ขึ้นใหม่หลังจากกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกในรูขุมขนออกจนหมด
2. อาการแพ้ครีมแบบมีอาการระคายเคือง
อาการระคายเคืองผิวหลังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งอาการที่คนนิยมเรียกว่าอาการแพ้ครีม ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกอาการแพ้ครีมในลักษณะนี้ว่าผื่นระคายสัมผัสจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) นั่นคือสารเคมีในผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำหอม สารกันเสีย สีย้อม และน้ำมันหอมระเหย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- มีผื่นแดง ลักษณะเป็นปื้นหรือตุ่มนูนขึ้นที่ผิว
- ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย
- รู้สึกแสบร้อนที่ผิว บางครั้งอาจมีอาการคัน
อาการแพ้ครีมประเภทนี้จะทำให้เกิดอาการเฉพาะบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ พบบ่อยบริเวณใบหน้า เช่น เปลือกตา แก้ม รอบจมูก ปาก และคาง โดยมักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติอื่น เพราะไม่ได้เป็นปฏิกิริยาอาการแพ้ที่เกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
3. อาการแพ้ครีมจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
อาการแพ้ครีมประเภทนี้เรียกว่าผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติต่อสารในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น น้ำหอม สารกันเสีย และสารประเภทโลหะ เช่น อะลูมิเนียม จึงปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา และทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น
- ผื่นแดง ลมพิษ มักทำให้คัน
- ผิวลอกเป็นขุย มีตุ่มพุพอง และอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา
- เจ็บปวดที่ผิวหนัง
- เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันตา คันจมูก คัดจมูก น้ำตาไหล ใบหน้าและลำคอบวม
วิธีรับมืออาการแพ้ครีมอย่างเหมาะสม
เนื่องจากอาการแพ้ครีมมีหลายประเภท การดูแลรักษาอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไป หากสิวขึ้นจากการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว อาจไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ แต่ควรลดถวามถี่ในการใช้ ลงและคอยสังเกตอาการ หากมีอาการแพ้ครีมรุนแรงขึ้น เช่น มีผื่นแดง แสบร้อนและคันผิว มีแผลพุพอง คันตาและจมูก ควรหยุดใช้ทันที
ส่วนกรณีที่เกิดสิวจากการอุดตันของรูขุมขน ควรเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว ผู้ที่ผิวมันควรทาครีมบำรุงผิวที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ (Water-Based) ที่อ่อนโยนต่อผิว และเสี่ยงต่อการอุดตันต่ำ (Hypoallergenic) และดูแลผิวที่มีอาการแพ้ครีม ดังต่อไปนี้
- ล้างหน้าให้สะอาดในตอนเช้าและก่อนนอนด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีน้ำมัน น้ำหอม หรือสารที่ทำให้ผิวอุดตันหรือเกิดอาการแพ้
- หลีกเลี่ยงการจับหน้าบ่อย ๆ การแกะ เกา บีบสิว และขัดผิวในช่วงที่ผิวมีอาการแพ้ครีม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองมากขึ้น
- ควรอาจทามอยส์เจอไรเซอร์ หรือทาปิโตรเลียมเจลลี่บาง ๆ บริเวณผิวที่ลอกเป็นขุย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
- อาบน้ำเย็น และประคบเย็นครั้งละ 15–30 นาทีบริเวณผิวบริเวณที่มีผื่นคันและบวมแดง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันผิว
- ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มเรตินอล
- ทายาแก้คันที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาคาลาไมน์ และยาไฮโดรคอร์ติโซน หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับการรับประทานยาต้านฮิสตามีน หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ครีม
หากดูแลผิวที่มีอาการแพ้ครีมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการแพ้ครีมจากสารใด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เช่น การทดสอบอาการแพ้ที่ผิวหนัง (Skin Prick Test) และรับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) หลังใช้ครีม เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาการแพ้ครีมป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ ควรอ่านส่วนประกอบบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกใช้เสมอ และทดสอบการแพ้ที่ผิวหนังก่อนใช้ครีมทาผิว โดยทาครีมบาง ๆ บริเวณท้องแขนด้านในที่ตำแหน่งเดิมต่อเนื่องกันประมาณ 7–10 วัน หากไม่มีอาการแพ้ครีมจึงค่อยเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว