อาการโรคซึมเศร้าที่ควรทราบและควรใส่ใจ

โรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจเพราะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาการโรคซึมเศร้ายังมีหลายรูปแบบอย่างนอนหลับยาก รู้สึกหดหู่ หรืออาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นได้ ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลของอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคซึมเศร้าเพื่อให้พร้อมรับมือหากเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่รักในวันข้างหน้า โดยอ่านได้จากบทความนี้

อาการโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าคืออะไร ?

โรคซึมเศร้า คือ โรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและสุขภาพร่างกายได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนเช่น รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง นอนไม่หลับ หรือคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของโรค เช่น ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ใช้สารเสพติด เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตทั้งดีและร้าย การสูญเสีย ความขัดแย้ง อาการป่วย ผลจากยาที่ใช้ หรือพันธุกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีวิธีการมากมายที่อาจช่วยฟื้นฟูผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ เช่น การไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หรือมีครอบครัวคอยสนับสนุน เป็นต้น

อาการโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง ?

เนื่องจากโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อทั้งอารมณ์ความรู้สึกและทางกายภาพของผู้ป่วย อาการที่อาจเกิดขึ้นจึงมีหลากหลาย โดยผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นมี ดังนี้

  • รู้สึกเสียใจ
  • รู้สึกผิด
  • รู้สึกเศร้าหมองอย่างต่อเนื่อง
  • รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่มีค่า
  • รู้สึกสิ้นหวังและหมดหนทาง
  • หงุดหงิดและไม่ค่อยอดทนกับผู้อื่น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การใช้ความคิด การใช้สมาธิจดจ่อ หรือการตัดสินใจ
  • มีความกังวล
  • กระวนกระวายใจ
  • ไม่มีความภูมิใจในตนเอง
  • ไม่มีความสนุกสนานในชีวิต
  • คิดทำร้ายตัวเองหรือคิดอยากฆ่าตัวตาย

ส่วนผลกระทบทางกายภาพที่อาจเกิดจากโรคซึมเศร้ามีหลายรูปแบบ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนฝูงหรือกิจกรรมทางสังคม
  • รู้สึกว่าการอยู่บ้านหรืออยู่กับคนในครอบครัวเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่แม้จะไปรักษาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
  • ละเลยงานอดิเรกหรือสิ่งที่ตนเองสนใจ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนมากกว่าปกติ หรือตื่นเช้ากว่าปกติ เป็นต้น
  • ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • ขาดพลังงาน
  • ความต้องการทางเพศต่ำ
  • น้ำหนักของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
  • การพูด การคิด หรือการเดินช้ากว่าปกติ
  • รับประทานอาหารมากกว่าปกติหรือไม่อยากอาหาร
  • รู้สึกเจ็บหรือปวดตามร่างกายอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • รอบของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ยังมีอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณของการคิดฆ่าตัวตายได้ หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  • โรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง เช่น เสียใจอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการนอน หรือไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เป็นต้น
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหัน อย่างเปลี่ยนจากเศร้าเสียใจเป็นดูเหมือนมีความสุข
  • พูดอะไรบางอย่างที่มีความหมายว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • พูดถึงเรื่องความตายหรือเรื่องการฆ่าตัวตายอยู่เสมอ
  • แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความไร้ค่า ความสิ้นหวัง หรือการหมดหนทาง
  • มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างขับรถฝ่าไฟแดง
  • ทำร้ายตัวเองด้วยการกรีดแขน ขา หรือใช้บุหรี่จี้ตามร่างกาย
  • เดินทางไปหาหรือโทรศัพท์ติดต่อคนที่ตนเองรักหรือสนิทสนม

รวมวิธีรับมือกับอาการโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้านั้นมีวิธีรับมือหลายรูปแบบที่อาจช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสติอยู่ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด ไปพบแพทย์เพื่อรับยารักษาโรคซึมเศร้า พูดคุยกับคนที่ตนเองไว้ใจถึงปัญหาที่เผชิญอยู่ เข้ากลุ่มบำบัดโรคซึมเศร้า รวมถึงการโทรปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากกรมสุขภาพจิตที่หมายเลข 1323 เป็นต้น