เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด คุณแม่ท้องแก่คงจะตื่นเต้นที่ลูกน้อยกำลังจะลืมตาดูโลกในไม่ช้า ซึ่งนอกจากการเตรียมตัวหรือเตรียมสิ่งของสำหรับไปโรงพยาบาลเพื่อทำคลอดแล้ว คุณแม่ควรศึกษาและสังเกตอาการใกล้คลอด หรืออาการที่เป็นสัญญาณว่ากำลังจะคลอดลูก เพื่อที่จะเตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
อาการใกล้คลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนอาจแสดงออกมาแตกต่างกัน รวมถึงความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาล่วงหน้าในการเกิดอาการด้วย คุณแม่แต่ละคนจึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้คลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตัวคุณแม่เองและต่อลูกน้อยในครรภ์
3 อาการใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้
อาการใกล้คลอดของคุณแม่แต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่มักจะปรากฏอาการดังต่อไปนี้
1. มีมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด
เมื่อใกล้คลอด คุณแม่จะมีมูกปนเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด สามารถพบได้ทั้งมูกใส มูกสีน้ำตาล มูกสีชมพู หรือมูกสีแดงสดเหมือนเลือด และจะมีความหนืดและข้นคล้ายกับตกขาว โดยมูกนี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนการคลอด แต่ในบางรายก็อาจเกิดขึ้นนานเป็นวันก่อนจะคลอดก็ได้เช่นกัน
มูกที่เกิดขึ้นนี้เป็นกลไกของร่างกายในการป้องกันแบคทีเรีย เชื้อโรค และสิ่งสกปรกทั้งหลายไม่ให้เข้าสู่มดลูก โดยร่างกายจะมีการสร้างชั้นเมือกหนาปกคลุมบริเวณปากมดลูกในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมในการคลอดจะมีการสลายเมือกเหล่านั้นออกมาทางช่องคลอด แต่ในบางรายก็อาจมีมูกปนเลือดออกมาในปริมาณที่น้อย
2. อาการน้ำเดินหรือน้ำคร่ำเดิน
อาการน้ำเดินถือเป็นสัญญาณของอาการใกล้คลอดที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคุณแม่จะมีของเหลวคล้ายน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดเช่นเดียวกับมูกปนเลือด ส่วนมากจะไหลออกมาในปริมาณไม่มากแล้วหายไป แต่ในบางรายอาจก็มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดในปริมาณมาก ซึ่งจะพบได้ 1 ใน 10 ของหญิงตั้งครรภ์
อาการน้ำเดินเกิดจากถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวเด็กทารกเกิดฉีกขาดหรือแตก เพื่อเตรียมตัวให้เด็กคลอดออกจากท้องแม่ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่หลายคนสับสนระหว่างน้ำปัสสาวะและน้ำจากถุงน้ำคร่ำ แต่โดยทั่วไปแล้ว น้ำจากถุงน้ำคร่ำจะมีลักษณะเป็นของเหลวใสและไม่มีกลิ่น
3. อาการเจ็บท้องคลอด
คุณแม่ที่มีอาการเจ็บท้องคลอดจะรู้สึกเจ็บตึง ๆ หรือรู้สึกบีบรัดที่ครรภ์ หลายคนมักจะเรียกอาการนี้ว่าท้องแข็ง คือมีอาการปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องส่วนล่าง โดยเริ่มปวดตั้งแต่บริเวณมดลูกลงไปยังก้นอย่างสม่ำเสมอหรือไล่จากล่างขึ้นบนสลับกัน และจะปวดเป็นจังหวะหรือมีรูปแบบในการปวดที่คาดเดาได้ เช่น มีอาการปวดทุก 8 นาที หรือปวดอยู่นานประมาณ 30–70 วินาที
อาการเจ็บท้องคลอดจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่การหยุดทำกิจกรรมหรือการเปลี่ยนท่าทางจะไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น อีกทั้ง อาการเจ็บท้องคลอดจะเกิดนานและถี่ขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการคลอดเนื่องจากจะเกิดการมดลูกบีบตัวและหดรัด และมักพบร่วมกับอาการน้ำเดินและพบมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอดด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของอาการใกล้คลอดเช่นกัน แต่อาจเป็นอาการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก หรือในคุณแม่บางรายก็อาจไม่เกิดอาการเหล่านี้ ตัวอย่างอาการใกล้คลอดที่มักพบได้ เช่น
- ตำแหน่งของท้องเคลื่อนต่ำลง เนื่องจากทารกเริ่มมีการเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น ในระยะนี้คุณแม่อาจจะหายใจได้สะดวกขึ้นเพราะแรงกดที่กระบังลมลดลง แต่ก็อาจมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย
- มีอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลว เพราะร่างกายจะสร้างสารคล้ายฮอร์โมนชื่อว่าโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เพื่อช่วยให้มดลูกหดตัวและช่วยขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่ก็จะกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายมากขึ้นด้วย
- มีอาการปวดหลัง เพราะหลังของคุณแม่จะอยู่ในลักษณะโค้งเป็นเวลานานหลายเดือน และเมื่อเด็กทารกเคลื่อนตัวต่ำลงมาจนศีรษะอยู่ใกล้หรือชนกับกระดูกสันหลังของคุณแม่ จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องมากขึ้น
- มีอาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก
- อารมณ์แปรปรวน และหงุดหงิดง่าย
วิธีสังเกตอาการปวดท้องจริงหรือปวดท้องหลอก
อาการปวดท้องใกล้คลอดมี 2 แบบ คืออาการปวดท้องคลอดจริง (True Labor Contractions) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเด็กทารกกำลังจะคลอดแล้ว และอาการปวดท้องเตือนหรืออาการปวดท้องหลอก (False Labor Contractions) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ช่วยย้ำว่าระยะเวลาการคลอดเริ่มใกล้เข้ามาแล้ว จึงอาจทำให้คุณแม่มือใหม่หลายคนเกิดความสับสนได้
โดยอาการปวดท้องเตือนจะแตกต่างจากอาการปวดท้องจริง ดังนี้
- เป็นอาการไม่สบายตัวหรืออึดอัดบริเวณช่วงหน้าท้องด้านหน้าและกระดูกเชิงกราน
- มีอาการปวดไม่รุนแรง ซึ่งหลายคนอธิบายว่ามีลักษณะคล้ายอาการปวดท้องประจำเดือน
- มีอาการปวดท้องเป็นช่วง ๆ แล้วหายไป ไม่ปวดถี่ติดต่อกัน
- อาการมักหายไปเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางหรือหยุดทำกิจกรรมนั้น ๆ
- สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 2 หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของอายุการตั้งครรภ์
หากคุณแม่เริ่มมีอาการปวดท้องเตือนก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป ให้ลองเปลี่ยนท่าทางหรือขยับร่างกายเมื่อเกิดอาการ และอาจงีบหลับระหว่างวัน แช่ตัวในน้ำอุ่น หรือฟังเพลงเพื่อความผ่อนคลาย ก็อาจสามารถช่วยให้อาการปวดท้องเตือนหายไปได้
การเตรียมความพร้อมเมื่อใกล้คลอด
เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด คุณแม่จะต้องเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เจ้าของครรภ์อย่างเคร่งครัด หรือแม้แต่ศึกษาวิธีที่อาจช่วยให้คลอดได้ง่ายมากขึ้น แต่คุณแม่ควรเลือกเชื่อในสิ่งที่เหมาะสมและพอดี รวมถึงไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดมากจนเกินไป
นอกจากนี้ คุณแม่และคุณพ่อจะต้องเตรียมตัวหลังการคลอดให้พร้อมด้วยเช่นกัน เช่น ศึกษาเส้นทางในการเดินทางไปโรงพยาบาล จัดเตรียมของเตรียมคลอดสำหรับนำไปโรงพยาบาล ปรึกษาครอบครัวหรือญาติเรื่องผู้ดูแลในระหว่างการคลอดและการพักฟื้น เพื่อให้มั่นใจว่าเตรียมการทุกอย่างว้เรียบร้อยล่วงหน้าก่อนคลอด และมีแผนสำรองในกรณีฉุกเฉินอยู่เสมอ
วิธีรับมือกับอาการใกล้คลอดเมื่ออยู่โรงพยาบาล
เมื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์ แพทย์จะมีการประเมินความพร้อมในการคลอดของคุณแม่ โดยจะตรวจดูปากมดลูกเป็นระยะว่าเปิดกว้างแค่ไหน หากเปิดกว้างถึง 10 เซนติเมตรก็จะสามารถทำการคลอดได้ ส่วนในคุณแม่บางรายที่ถุงน้ำคร่ำไม่แตก แพทย์อาจจะต้องมีการเจาะถุงน้ำคร่ำ หรืออาจมีการให้ยาเร่งคลอด เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการคลอดได้ง่ายขึ้น
เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอดมากขึ้นในระหว่างนี้ คุณแม่อาจลองฝึกการหายใจยาวเพื่อเบ่งคลอด โดยให้ผู้ดูแลทำไปพร้อม ๆ กันเป็นจังหวะ เพื่อช่วยให้สามารถเบ่งคลอดได้ง่ายมากขึ้น หรือให้ช่วยลูบหลังเบา ๆ ก็อาจบรรเทาอาการปวดระหว่างรอคลอดได้