อาการไข้หวัดจะเกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด ระบบภูมิคุ้มกันจึงพยายามกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกาย และช่วยให้หายเป็นปกติ ซึ่งอาการไข้หวัดที่พบบ่อย ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และเจ็บคอ
ไข้หวัดธรรมดา หรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่พบได้บ่อยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งโดยส่วนมากจะเกิดจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) อาการไข้หวัดมักไม่รุนแรงแต่เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้อาการไข้หวัดหายเร็วขึ้นและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ชวนสังเกตอาการไข้หวัด
โดยส่วยใหญ่แล้ว อาการไข้หวัดมักเกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก่อโรคหวัดประมาณ 1–3 วัน และมักไม่รุนแรง และมักจะดีขึ้นภายใน 7 วัน อาการที่พบมีหลากหลาย เช่น
- เจ็บคอ คันคอ เสียงแหบ
- ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
- มีน้ำมูก คัดจมูก
- น้ำมูกไหล จาม
- จมูกไม่ค่อยได้กลิ่น และรับรสชาติได้น้อยลง
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีไข้
อาการไข้หวัดในทารกและเด็กเล็ก
อาการไข้หวัดในทารกและเด็กเล็กอาจรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งพ่อแม่อาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เหล่านี้
- น้ำมูกไหล โดยช่วงแรกอาจมีน้ำมูกใส ต่อมาน้ำมูกอาจเหนียวข้นขึ้น และมีสีเขียว เหลือง หรือสีออกเทา
- ไอ จาม
- คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
- ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย
- ไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
- มีไข้ประมาณ 38 องศาเซลเซียส
- น้ำลายไหล เนื่องจากเจ็บคอจนไม่อยากกลืนน้ำลาย
- ตาแดง
- นอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน
อาการไข้หวัดในช่วงแรกอาจคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ จึงอาจบอกได้ยาก แต่ความแตกต่างของอาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่คือ ผู้ใหญ่ที่เป็นหวัดมักไม่มีไข้ แต่ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมักมีไข้และหนาวสั่น ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า
วิธีบรรเทาอาการไข้หวัดให้หายเร็ว
อาการไข้หวัดมักไม่รุนแรง และอาจดีขึ้นได้เอง แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด และช่วยให้หายเร็วขึ้น เช่น
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนมาก ๆ จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายฟื้นตัวจากอาการไข้หวัดได้เร็วขึ้น โดยใน 1 วัน ผู้ใหญ่ควรนอนหลับประมาณ 7–9 ชั่วโมง และเด็กควรนอนหลับให้ได้วันละ 9–12 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากจนกว่าจะหายดี
ดื่มน้ำและกินอาหารอุ่น ๆ
ผู้ที่มีอาการไข้หวัดควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและเจ็บคอ รวมถึงป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยอาจเป็นน้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง ชาสมุนไพร อย่างชาขิง ที่ช่วยบรรเทาอาการไอและคัดจมูก โดยหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม
ขณะที่เป็นหวัดอาจทำให้ไม่ค่อยอยากอาหาร การกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและรับประทานง่าย เช่น ซุป ข้าวต้ม และโจ๊ก จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
สูดไอน้ำร้อน
การสูดไอน้ำร้อน โดยใส่น้ำร้อนลงในอ่าง ใช้ผ้าคลุมศีรษะไว้ แล้วก้มหน้าสูดไอน้ำที่ระเหยออกมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ช่วยให้ลำคอชุ่มชื้นขึ้น และขับน้ำมูกที่เหนียวข้นออกมาได้ง่ายขึ้น
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีที่ช่วยชะล้างน้ำมูกที่เหนียวข้นในโพรงจมูก และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น โดยใช้น้ำเกลือสำเร็จรูป และอุปกรณ์ฉีดน้ำเกลือที่เหมาะสม เช่น กระบอกฉีดน้ำเกลือ และลูกยางแดงดูดน้ำมูกสำหรับเด็กเล็ก
เช็ดตัว และอาบน้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่นจะช่วยลดอาการปวดตามร่างกายได้ หากเด็กมีไข้ ควรเช็ดตัวลดไข้ให้เด็ก ไม่ควรให้เด็กอาบน้ำเย็น ควรเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง โดยเน้นบริเวณข้อพับ จนกว่าไข้จะลด
ใช้ยาบรรเทาอาการไข้หวัด
ยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดมีหลายประเภท เช่น ลูกอมหรือสเปรย์แก้เจ็บคอ ขี้ผึ้งทาบริเวณคอและจมูกเพื่อบรรเทาอาการไข้หวัด ยาลดน้ำมูกยาแก้ไอ ยาแก้ปวดและลดไข้ เป็นต้น ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรและใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็กเล็ก เพื่อความปลอดภัย
หากเป็นหวัดไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เนื่องจากอาการไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่มีผลในการรักษาอาการไข้หวัด
อาการไข้หวัดที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการไข้หวัดไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงหลังจากผ่านไป 10 วัน มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสติดต่อกันเกิน 3 วัน เจ็บหน้าอก ปวดหูหรือปวดหัวรุนแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด ควรไปพบแพทย์
ส่วนทารกและเด็กเล็ก ควรพาไปพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- เด็กมีไข้นานกว่า 2 วันโดยไม่ลดลง หรือไข้สูงขึ้น
- ปัสสาวะน้อย โดยอาจสังเกตจากการเปลี่ยนผ้าอ้อมไม่บ่อยเท่าปกติ
- ร้องไห้งอแงมาก ซึ่งอาจเกิดจากอาการปวดหัว ปวดหู หรือเจ็บคออย่างรุนแรง
- ไอไม่หยุด
- มีน้ำมูกสีเขียวที่มีลักษณะเหนียวข้นมากต่อเนื่องกันหลายวัน
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
- ตาแดง มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว
- ง่วงซึมมาก ไม่ยอมตื่นมาดื่มนมหรือกินอาหาร
การป้องกันอาการไข้หวัดทำได้โดยการล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนที่เป็นหวัด ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกเมื่อไอและจาม จากนั้นนำไปทิ้งถังขยะให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย