ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อน โดยเฉพาะในช่วงประมาณกลางเดือนกุมพาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ก็อาจมีอากาศร้อนตลอดทั้งปีได้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารก ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือต้องทำงานกลางแจ้ง และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรืออาการต่าง ๆ ของโรคประจำตัวกำเริบขึ้นมาได้
อากาศร้อนเป็นอย่างไร ?
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุถึงเกณฑ์การวัดอากาศร้อนไว้ที่ 35.0-39.9 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิขึ้นสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะจัดว่าเป็นอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งบางครั้งตัวเลขบนเทอร์โมมิเตอร์ก็ไม่สามารถบอกความร้อนที่แท้จริงได้ แต่ต้องดูความชื้นในอากาศควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากร่างกายจะระบายความร้อนได้ไม่ดีเมื่อความชื้นในอากาศสูง เช่น หากอุณหภูมิที่อ่านได้คือ 29 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นในอากาศเป็นศูนย์ จะทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิที่อ่านได้คือ 29 องศาเซลเซียส และมีความชื้นในอากาศ 80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส เป็นต้น
ผลกระทบจากอากาศร้อน
การเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายส่งเลือดไปเลี้ยงตามผิวหนังเพื่อคลายความร้อน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ จึงมีผลต่อความแข็งแรงของร่างกายและสภาพจิตใจ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ดังนี้
-
ตะคริวแดด
มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักจนทำให้เหงื่อออกมาก รวมถึงผู้ที่เผชิญกับอากาศร้อนประมาณ 32-40 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในปริมาณมาก โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา และไหล่ มีอาการหดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้
-
อาการเพลียแดด
เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียเหงื่อปริมาณมาก อย่างผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนประมาณ 40-54 องศาเซลเซียส ซึ่งการสูญเสียของเหลวในร่างกายในปริมาณมากจะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้รู้สึกวิงเวียน สับสน เมื่อยล้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีด เป็นลม หรือมีการปวดบีบที่กล้ามเนื้อ
-
โรคลมแดด
เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไปจากการเผชิญกับอาการร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 54 องศาเซลเซียสขึ้นไปโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ร่างกายไม่ขับเหงื่อ ผิวแดง ผิวแห้งและร้อน
แต่หากเป็นโรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกาย ผิวจะมีความชื้นอยู่เล็กน้อย และจะมีอาการ เช่น เป็นตะคริว หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะตุบ ๆ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม สับสนมึนงง กระสับกระส่าย หงุดหงิด พูดไม่ชัด มีอาการเพ้อ ไม่สามารถทรงตัวได้ มีพฤติกรรมหรือการรับรู้สติเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ทั้งนี้ อาการของโรคลมแดดเกิดขึ้นได้ในทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
-
ผดร้อน
อากาศร้อนชื้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต่อมเหงื่ออุดตันจนร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังได้ตามปกติ จนทำให้เกิดการอักเสบและมีผื่นคัน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขาหนีบ รวมถึงผิวหนังที่มีการเสียดสีกับเสื้อผ้า หากผดร้อนมีอาการรุนแรง อาจทำให้แสบตามผิวหนัง ผิวบวมแดง เกิดการติดเชื้อร่วมกับมีหนอง และอาจมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ คอ หรือขาหนีบร่วมด้วย
วิธีรับมือเมื่อเผชิญกับอากาศร้อน
เพื่อป้องกันอันตรายและปัญหาสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อน ควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งรู้สึกกระหาย แต่ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยเหงื่อที่ถูกขับออกมาตามผิวหนังที่ช่วยระบายความร้อนให้แก่ร่างกาย และป้องกันภาวะขาดน้ำด้วย โดยปริมาณการดื่มน้ำที่เพียงพออาจสามารถสังเกตได้จากสีของปัสสาวะที่ยิ่งใสยิ่งดี ส่วนเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน พ่อแม่ควรป้อนนมให้บ่อยครั้งกว่าปกติ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำจากอากาศร้อน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะสารเหล่านี้จะขจัดน้ำออกจากร่างกายได้มากกว่าปกติ ทั้งนี้ สามารถดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผสมน้ำตาลแทนได้ เพราะไม่เพียงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย แต่ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ในระหว่างที่เสียเหงื่ออีกด้วย
- สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับใส่ในสภาพอากาศร้อน คือ เสื้อสีขาวที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าลินินหรือผ้าฝ้าย และควรมีขนาดที่ไม่พอดีตัวจนเกินไป รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำเพราะจะดูดความร้อน หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปเพราะจะระบายเหงื่อได้ไม่ดี
- ปกป้องผิวจากแดดร้อน ก่อนออกจากบ้านควรทา ที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป สวมแว่นกันแดดและหมวกเพื่อปกป้องผิวหนังจากแดดร้อนและรังสียูวี
- หลีกเลี่ยงแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวันที่มีแดดจ้า เพื่อลดการเผชิญกับอากาศร้อน แสงแดด และรังสียูวีที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและร่างกาย ส่วนผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรพาเด็กไปทำกิจกรรมกลางแจ้งที่แสงแดดส่องถึงผิวได้โดยตรง เพราะผิวหนังของทารกยังบอบบาง หรืออาจทาครีมกันแดดสูตรสำหรับเด็ก แต่ควรทาในปริมาณน้อย ๆ หากเด็กทารกมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อาจใช้ครีมกันแดดทาผิวเด็กได้บ่อยครั้งมากขึ้น
- จัดบ้านให้เหมาะกับสภาพอากาศ ด้วยการใช้ผ้าม่าน มู่ลี่ หรือม่านบังแดดรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะผ้าม่านสีอ่อน เพื่อลดการกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าผ้าม่านสีเข้ม หรืออาจปลูกต้นไม้ในบ้านเพื่อให้ร่มเงาด้วย
- ให้ผู้สูงอายุพกข้อมูลส่วนตัวและเบอร์ติดต่อ ผู้ดูแลควรให้ผู้สูงวัยพกข้อมูลส่วนตัวติดตัวไว้ตลอดเวลา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ เป็นต้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ตามลำพังหรือต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
อากาศร้อนและเหตุฉุกเฉินที่ควรไปพบแพทย์
หากผู้ที่เป็นตะคริวแดดนั่งพักแล้วสักระยะ ดื่มน้ำและเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำได้ ร่วมกับมีอาการเพลียแดด วิงเวียน เมื่อยล้า ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเหนื่อยหอบอย่างรุนแรงมากขึ้น และมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ส่วนอาการเพลียแดด แม้จะมีความรุนแรงไม่เท่าโรคลมแดด แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่โรคลมแดดได้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสมองและอวัยวะอื่น ๆ หรืออาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ควรรีบพาผู้ที่เป็นโรคลมแดดไปโรงพยาบาลเพื่อให้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเร่งด่วน และหากบังเอิญพบผู้ที่อาจจะเป็นโรคลมแดด ควรรีบพาผู้ป่วยไปนั่งพักในบริเวณที่มีร่มเงา ปลดกระดุมหรือเน็กไทออกเพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น และใช้น้ำเย็นประพรมตามร่างกาย หรือใช้ผ้าชุบน้ำแล้ววางไว้ที่หน้าผาก คอ รักแร้ หรือขาหนีบ เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายในเบื้องต้น