อาบน้ำอุ่นหรืออาบน้ำเย็น อาบแบบไหนถึงดีต่อสุขภาพ

การอาบน้ำถือเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันสำคัญของใครหลายคน ทั้งเป็นกิจกรรมแรก ๆ ของการเริ่มต้นวันใหม่และกิจกรรมสุดท้ายก่อนเข้านอน หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าอุณหภูมิของน้ำที่ใช้อาบนอกจากจะให้ความรู้สึกที่ต่างกัน อย่างความสดชื่น กระปรี้กระเปร่าหลังอาบน้ำเย็น หรือความรู้สึกผ่อนคลายหลังอาบน้ำอุ่น ยังอาจส่งผลอื่น ๆ ต่อร่างกายทั้งภายในและภายนอกด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการอาบน้ำเย็นและน้ำอุ่นกันมาบ้าง บางคนเชื่อว่าการอาบน้ำเย็นจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ทำให้ผิวแห้ง ในขณะที่บางคนอาจชอบการอาบน้ำอุ่นมากกว่าเพราะด้วยความสบาย ผ่อนคลาย หรืออาจเชื่อว่าการอาบน้ำอุ่นจะให้ความสะอาดที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม การอาบน้ำแต่ละแบบก็มีทั้งข้อดีและข้อควรระวังที่ต่างกัน บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการอาบน้ำทั้งสองแบบมาให้ได้ศึกษากัน

อาบน้ำอุ่นหรืออาบน้ำเย็น อาบแบบไหนถึงดีต่อสุขภาพ

อาบน้ำอุ่น อาบน้ำเย็น แต่ละแบบต่างกันอย่างไร

อุณหภูมิของน้ำที่ใช้อาบจะส่งผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกัน เช่น

การอาบน้ำเย็นส่งผลอะไรต่อร่างกาย

นอกจากจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว หรือกระปรี้กระเปร่า การอาบน้ำเย็นยังอาจส่งผลดีในด้านอื่น ๆ ต่อร่างกาย เช่น

  • กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย
    เนื่องจากในขณะที่อาบน้ำเย็น หลอดเลือดบริเวณผิวหนังชั้นบนจะหดตัวลง ส่งผลให้เลือดบริเวณผิวหนังชั้นล่างไหลเวียนเร็วขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม
  • กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน (Endorphin)
    การอาบน้ำเย็นจะช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีและสบายตัว
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการคันผิวหนัง
    การอาบน้ำเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการบางอย่างของร่างกาย อย่างอาการคันหรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม การอาบน้ำที่เย็นเกินไปอาจไม่เหมาะกับผู้ที่กำลังป่วยหรือเป็นไข้หวัด เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่เย็นจนเกินไปอาจส่งผลให้อาการต่าง ๆ แย่ลงหรือใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้น

การอาบน้ำอุ่นส่งผลอะไรต่อร่างกาย

ในทางกลับกันกับการอาบน้ำเย็นที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า การอาบน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายอาการตึงหรืออาการล้าของกล้ามเนื้อ และช่วยทำความสะอาดสิ่งสกปรกหรือคราบมันต่าง ๆ ภายในรูขุมขนได้ดี รวมถึงยังมีงานศึกษาบางชิ้นพบว่าการอาบน้ำอุ่นอาจช่วยให้นอนหลับได้ไวและมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียบางอย่างต่อร่างกาย เช่น

  • ผิวแห้ง ผิวขาดความชุ่มชื้น
    น้ำที่ร้อนจนเกินไปจะทำให้น้ำมันที่อยู่บนผิวถูกล้างออกไป และยังส่งผลให้เซลล์ผิวในชั้นหนังกำพร้าหรือชั้นนอกสุดถูกรบกวนจนอาจนำไปสู่ปัญหาผิวต่าง ๆ อย่างผิวแห้งหรือผิวขาดความชุ่มชื้น
  • เกิดอาการคันผิวหนัง
    การอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไปอาจส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า แมสต์เซลล์ (Mast Cells) ปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) หรือสารที่กระตุ้นให้ผิวหนังเกิดอาการคัน
  • อาการทางผิวหนังบางชนิดแย่ลง
    อุณหภูมิของน้ำที่สูงจนเกินไปอาจส่งผลให้อาการทางผิวหนังบางชนิดแย่ลง เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) หรือลมพิษ (Urticaria) เป็นต้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น
    การอาบน้ำที่อุณหภูมิสูงจนเกินไปอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไป

การอาบน้ำอุ่นและการอาบน้ำเย็นล้วนมีข้อดีแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือควรคำนึงถึงความสะอาด สภาพอากาศ และสุขภาพของตัวเองเสมอ เช่น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่เย็นจนเกินไปขณะป่วยหรืออยู่ในช่วงที่สภาพอากาศหนาว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไปหากมีความดันโลหิตสูง ไม่อาบน้ำนานจนเกินไป โดยเวลาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 5–10 นาที และควรทาครีมที่มีสารช่วยให้ผิวชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้น เป็นต้น