อายุที่เหมาะกับการตั้งครรภ์นั้นอาจระบุได้ยาก เพราะการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูเด็กนั้นจำเป็นต้องใช้ปัจจัยและความพร้อมในหลายด้าน บางช่วงอายุอาจมีความพร้อมทางด้านร่างกาย แต่อาจขาดความพร้อมในด้านอื่น ซึ่งอาจส่งผลเด็กและตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วย
หากมองในแง่ของความพร้อมของร่างกาย วัยหนุ่มสาวก็อาจเป็นคำตอบของคำถามนี้ แต่หากพูดถึงความพร้อมในการเลี้ยงดู ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะเป็นวัยผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพสูงกว่าในหลายด้าน แต่หากอายุมากเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่และทารก แล้วช่วงอายุไหนถึงจะเหมาะกับการตั้งครรภ์กัน สามารถหาข้อมูลได้จากบทความนี้
อายุที่เหมาะกับการตั้งครรภ์ เปอร์เซ็นต์สำเร็จและความเสี่ยง
มนุษย์เพศหญิงนั้นเกิดพร้อมเซลล์ไข่ราว 1-2 ล้านฟอง ไข่เหล่านี้จะเริ่มสุกหรือพร้อมปฏิสนธิเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยปริมาณและคุณภาพของไข่จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ช่วงอายุ 20 ปี
ช่วงอายุนี้แบ่งออกเป็นตอนต้นกับตอนปลาย สำหรับช่วงตอนต้นหรือคนที่มีอายุ 20-24 ปี มักกำลังอยู่ในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เพิ่งเรียนจบหรือเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ส่วนช่วงอายุ 25-29 ปี จัดเป็นช่วงกลางถึงปลาย ก็ยังเป็นวัยที่จดจ่อกับการทำงาน ความก้าวหน้า ทำสิ่งที่อยากทำ และหาประสบการณ์ ด้วยลักษณะและความสนใจทั้งหมดนี้ทำให้คนในวัยนี้อาจมีสถานะทางการเงินและความพร้อมอื่น ๆ ไม่มากพอจะแบกรับภาระในการมีลูกได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุนี้ถือเป็นช่วงที่ร่างกายพัฒนาได้สมบูรณ์ มีความแข็งแรงและสุขภาพดี จึงอาจมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน และอาจพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้น้อยมาก ด้วยเหตุนี้ ช่วงอายุ 20 ปี จึงเป็นช่วงอายุที่ร่างกายพร้อมกับการตั้งครรภ์ที่สุด แต่ก็อาจประสบกับปัญหาด้านการเงิน การแบ่งเวลา การเลี้ยงดูได้ โดยเฉพาะหากเป็นช่วง 20 ตอนต้นหรืออายุน้อยกว่านั้น เพราะการตั้งครรภ์ย่อมส่งผลต่อการเรียน การใช้ชีวิตในสังคม และอนาคตของเด็กที่ตั้งครรภ์และลูกอย่างแน่นอน
ช่วงอายุ 30 ปี
อายุ 30 ปี เริ่มเป็นช่วงเวลาของการเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวมากขึ้น เริ่มมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น มีเงินเก็บ มีการวางแผนสำหรับอนาคต แต่เปอร์เซ็นต์ในการตั้งครรภ์ก็อาจลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่าลดลงไม่มากนัก โดยในช่วงตอนต้นของวัยนี้อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ราว 20 เปอร์เซ็นต์ต่อการตกไข่ 1 รอบ แต่หลังจากอายุ 32 ปีขึ้นไป ปริมาณและคุณภาพของไข่ภายในร่างกายจะลดลงอย่างช้า ๆ เมื่อเช้าสู่ช่วงอายุ 35-37 ปี ปริมาณของเซลล์ไข่ในร่างกายจะเหลืออยู่ราว 25,000 ฟองและจะลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงคุณภาพของไข่ก็ลดลงด้วยเช่นกัน นั่นก็หมายถึงโอกาสตั้งครรภ์ที่ลดต่ำลงด้วย ซึ่งอาจมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ใน 3 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ คนในวัยนี้อาจเริ่มมีโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์หรือร่างกายส่วนอื่น ๆ จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อย่างการแท้งหรือเกิดโรคทางพันธุกรรม นอกจากภาวะแทรกซ้อนที่พบในทารกแล้ว ตัวคุณแม่เองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันสูง โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ไปจนถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้น หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์และวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์
ช่วงอายุ 40 ปี
หลังจากอายุ 40 ปี ปริมาณและคุณภาพของไข่นั้นจะลดลงอย่างมาก แม้ว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดีก็อาจมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน อีกทั้งคุณภาพของไข่ที่ลดลงอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้หลายอย่าง เช่น ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โครโมโซมผิดปกติ พิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด ตายคลอดหรือทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (Stillbirth) เป็นต้น นอกเหนือจากภาวะที่พบได้ในช่วง 30 ตอนปลายแล้ว คุณแม่ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูกและภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าช่วงวัยนี้จะเป็นช่วงที่หลายคนอาจมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและมีวุฒิภาวะพร้อมที่จะดูแลลูก แต่ภาวะทางร่างกายนั้นอาจไม่เอื้ออำนวยนัก หากอยากมีลูกในช่วงอายุนี้จำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาและการดูแลจากแพทย์ในทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับแม่และลูก อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในคนอายุมากก็ยังมีโอกาสที่ทารกจะเกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ได้เช่นกัน และหลังจากช่วงอายุนี้ผ่านไปแล้ว การตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นไปได้ยากมาก
ทางเลือกในการตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าหลังจากอายุ 35 ปี โอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รวมไปถึงอาจมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับแม่และลูกทั้งระหว่างตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของคนกลุ่มนี้ ดังนี้
-
ใช้ยากระตุ้นการตกไข่
วิธีนี้เป็นการใช้ยาฮอร์โมนเข้าไปปรับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่และระบบสืบพันธุ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยผู้ที่เข้ารับการใช้ยากระตุ้นการตกไข่ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ เพื่อดูชนิดของฮอร์โมนที่เหมาะสมกับสภาพของไข่ภายในร่างกาย
-
ทำเด็กหลอดแก้ว
IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization) วิธีนี้เป็นการนำเซลล์ไข่และอสุจินั้นมาผสมกันในหลอดแก้วทดลอง จากนั้นแพทย์จะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วหรือตัวอ่อนเข้าไปในครรภ์ของฝ่ายหญิง โดยวิธีนี้อาจใช้เซลล์ไข่หรืออสุจิที่ได้รับมาจากผู้บริจาคที่ร่างกายแข็งแรง ซึ่งอาจช่วยให้การตั้งครรภ์มีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น
-
ทำกิ๊ฟท์
การผสมเทียมในท่อนำไข่หรือที่หลายคนเรียกว่าการทำกิ๊ฟท์ (Gamete Intra fallopian Transfor-GIFT) เป็นการฉีดอสุจิและเซลล์ไข่เข้าไปยังท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ
-
แช่แข็งเซลล์ไข่
การแช่แข็งเซลล์ไข่อาจไม่ตรงกับอายุของกลุ่มนี้มากนัก แต่เป็นวิธีที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่อยากเก็บเซลล์ไข่ไว้ในขณะที่เซลล์ยังสมบูรณ์ โดยจะมีการบริการเก็บไข่และนำไปแช่แข็ง เพื่อนำออกมาผสมกับอสุจิเมื่อเจ้าของไข่พร้อมที่จะตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม โอกาสสำเร็จของวิธีเหล่านี้อาจลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาการตั้งครรภ์อาจเกิดจากฝ่ายชายได้เช่นกัน คู่รักที่มีปัญหาด้านนี้จึงควรไปพบแพทย์ด้วยกัน สำหรับคนในช่วงอายุ 20-30 ปีตอนต้นที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันราว 3 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกันไปจนถึง 1 ปีแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ เพราะมีแนวโน้มที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสี่ยงต่อภาวะมีลูกยาก
สุดท้ายนี้ ไม่อาจสามารถสรุปได้ว่าอายุที่เหมาะกับการตั้งครรภ์นั้นควรจะเป็นช่วงไหน เพราะในแต่ละช่วงอายุมีปัจจัยความพร้อมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน ความมั่นคง วุฒิภาวะ หรือความเป็นพ่อเป็นแม่ แต่เพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ นอกจากนี้ แม้อายุจะเพิ่มขึ้น แต่คนที่สุขภาพแข็งแรงดีมักมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สูงกว่า ดังนั้น การรักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้