อารมณ์แปรปรวน (Mood swings)

ความหมาย อารมณ์แปรปรวน (Mood swings)

อารมณ์แปรปรวน (Mood Swings) คืออาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว โดยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วย ความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายหรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิด เช่น โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคจิตอารมณ์ (Schizoaffective Disorder) 

นอกจากนี้ อาการอารมณ์แปรปรวนมักพบได้ในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่าวัยทองด้วย ซึ่งหากมีอาการอารมณ์แปรปรวนเพียงเล็กน้อยก็ไม่ถือว่าเป็นอันตราย แต่ถ้ามีอาการอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจเป็นความผิดปกติที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

อารมณ์แปรปรวน

อาการอารมณ์แปรปรวน

อาการของอารมณ์แปรปรวนที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนคือความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็วจนผิดปกติ ผู้ที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนอาจมีหลากหลายอารมณ์ใน 1 วัน เช่น รู้สึกเศร้า รู้สึกมีความสุข หรืออาจร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ และหากมีอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงและตรงข้ามกัน รวมถึงอาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ หากอาการของผู้ป่วยเริ่มควบคุมไม่ได้ หรือมีอาการอารมณ์แปรปรวนสุดโต่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงมากขึ้น

สาเหตุของอารมณ์แปรปรวน

อาการอารมณ์แปรปรวนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่มักทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรนปรวน ได้แก่

1. ปัญหาทางจิต 

อาการอารมณ์แปรปรวนมักเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น

  • โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวนแบบสุดขั้ว ระหว่างอารมณ์ครื้นเครงและอารมณ์ซึมเศร้า
  • โรคไบโพลาร์แบบไม่รุนแรง (Cyclothymic Disorder) ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวนระหว่างอารมณ์ครื้นเครงและอารมณ์ซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง แต่มากกว่าคนปกติทั่วไป
  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้าที่มากผิดปกติ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย
  • โรคประสาทซึมเศร้า (Dysthymia) ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง
  • โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ (Disruptive Mood Dysregulation Disorder) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในเด็ก และมักทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่แปรปรวนผิดปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นและโรคจิตเภท ก็อาจพบอาการของอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน

2. ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เพราะฮอร์โมนต่าง ๆ จะส่งผลต่อการทำงานของสมอง มักพบในวัยรุ่น ผู้ที่กำลังมีครรภ์ เพศหญิงในช่วงที่กำลังมีประจำเดือน รวมถึงเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนด้วย ทั้งนี้ อาการอารมณ์แปรปรวนที่เกิดจากสาเหตุนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับระดับฮอร์โมน

3. ผลข้างเคียงจากการใช้สารเสพติด

สารเสพติดไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง จนอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีการใช้สารเสพติดอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้รับการบำบัดรักษา อาจส่งผลกระทบต่อสมองด้วยเช่นกัน

4. ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอารมณ์แปรปรวน รวมถึงอาการป่วยบางชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบประสาทและสมอง เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อปอด ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อาการอารมณ์แปรปรวนยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ บุคลิกภาพ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต การรับประทานอาหาร เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง พฤติกรรมการนอนหลับ การใช้ยาในการรักษาโรคหรืออาการบางชนิด รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย

การวินิจฉัยอารมณ์แปรปรวน

ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง หากพบว่าตนเองมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ผิดปกติ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ และทำแบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ทั้งนี้เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจมีการการตรวจคัดกรองทางสุขภาพจิต ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

1. การซักประวัติ

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เพื่อดูปฏิกิริยาของผู้ที่เข้ารับการตรวจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจอาจถูกถามถึงเรื่องอาการที่เกิดและความวิตกกังวลที่มี ทั้งนี้ หากผู้ที่เข้ารับการตรวจมีการจดบันทึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ด้วย ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

2. การตรวจสุขภาพ

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพในเบื้องต้น และอาจมีการซักถามประวัติการรักษาและหรือยาที่ใช้ นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่น ๆ เช่น ความยืดหยุ่นของร่างกาย ความสมดุล และประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยิน การตรวจวัดสายตา การตรวจการได้กลิ่นและการรับรส รวมถึงการตรวจปฏิกิริยาตอบโต้จากการสัมผัส

3. การทำแบบทดสอบ

แพทย์อาจให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจทำแบบทดสอบในรูปแบบของข้อเขียนหรือการถาม–ตอบด้วยปากเปล่า โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีคำถามประมาณ 20–30 ข้อ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” จากนั้นแพทย์จะนำคำตอบที่ได้ไปคำนวณคะแนนและวิเคราะห์ต่อไป

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ที่เข้ารับการตรวจอาจมีความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากระบบประสาท แพทย์จะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงในบางครั้งแพทย์อาจสั่งตรวจการทำงานของไทรอยด์ด้วยเช่นกัน

การรักษาอารมณ์แปรปรวน

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนจากสาเหตุใด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นการรักษาคือผู้ป่วยควรทำความเข้าใจและยอมรับตัวเองให้ได้เสียก่อน รวมถึงควรทำความเข้าใจว่าอารมณ์แปรปรวนนั้นไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย เป็นสิ่งที่สามารถรักษาให้หายได้และควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อคนรอบข้าง

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจและยอมรับถึงจุดนี้แล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษาในเบื้องต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • วางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และทำตามแผนที่วางไว้ให้สำเร็จ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับที่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่คงที่มากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะอารมณ์แปรปรวนสามารถเกิดจากอาหารที่รับประทานได้ จึงควรการปรับเปลี่ยนอาหารให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งจะส่งผลดีต่ออารมณ์
  • ฝึกจิตใจให้สงบด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การนั่งสมาธิ การฟังเพลง หรือการเล่นโยคะ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน
  • หาวิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผ่อนคลายท่าทีที่รุนแรง เช่น การวาดภาพ หรือการทำงานอดิเรก 
  • หาที่ปรึกษาที่สามารถรับฟังความรู้สึกนึกคิดได้ เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาสุขภาพจิต แพทย์จะทำการรักษาเฉพาะทาง เช่น ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย แพทย์จะรักษาด้วยยาเพื่อปรับระดับฮอร์โมนควบคู่ไปกับการให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือหากผู้ป่วยมีปัญหาทางจิต แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาหรือรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด (Psychotherapy)

ส่วนในกรณีของเพศหญิงที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนจากการตั้งครรภ์ แพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อให้ว่าที่คุณแม่ผ่อนคลายจากความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เพราะหากมีอาการเครียดและภาวะอารมณ์แปรปรวนสะสม ก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

ภาวะแทรกซ้อนของอารมณ์แปรปรวน

หากผู้ป่วยที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นและอาจกลายเป็นปัญหาทางจิตที่ต้องเข้ารับการรักษา เช่น โรคไบโพลาร์ ซึ่งโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เกิดอาการคลุ้มคลั่งจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้

การป้องกันอารมณ์แปรปรวน

ผู้ป่วยที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนควรทำความเข้าใจตนเอง หลีกเลี่ยงความเครียด และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากรู้สึกว่าตนเองไม่สบายใจ หรือมีความขุ่นเคืองใด ๆ อาจปรึกษาคนใกล้ชิดเพื่อที่จะได้มีคนคอยช่วยแก้ปัญหาและช่วยให้จิตใจลงได้ ทั้งนี้ หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์ที่ผิดปกติ ควรเริ่มจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และนำไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป