อาหารกระป๋อง ความเสี่ยง และการบริโภคอย่างปลอดภัย

อาหารกระป๋อง เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เพราะสามารถเก็บได้นานและพกพาสะดวก อีกทั้งอาจมีสารอาหารครบถ้วนไม่แพ้อาหารสด อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารกระป๋องที่สะอาดและได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายจากการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษ

1621 อาหารกระป๋อง Resized

อาหารกระป๋อง เป็นอย่างไร ?

อาหารกระป๋องเป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยนำอาหารบรรจุลงในกระป๋องแล้วใช้เทคโนโลยีให้ความร้อน เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเน่าเสีย ผลิตภัณฑ์อาหารชนิดนี้จึงอาจสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องนานหลายปี

โดยทั่วไป อาหารกระป๋องแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีความเป็นกรดต่ำจำพวกเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ และกลุ่มอาหารที่เป็นกรดอย่างผลไม้ต่าง ๆ

อาหารกระป๋องมีสารอาหารน้อยกว่าอาหารสดหรือไม่ ?

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารกระป๋องนั้นมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการน้อยกว่าอาหารสดหรืออาหารแช่แข็ง แต่จริง ๆ แล้วมีงานวิจัยพบว่าอาหารที่บรรจุในกระป๋องยังคงมีปริมาณสารอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ และวิตามินที่ละลายในไขมันอย่างวิตามินเอ ดี อี และวิตามินเค เทียบเท่ากับอาหารสด นอกจากนั้น การให้ความร้อนในกระบวนการสำคัญของการผลิตอาหารกระป๋องก็อาจช่วยให้สารต้านอนุมูลอิสระในผักหรือผลไม้บางชนิดมีปริมาณสูงขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมส่วนประกอบของอาหาร การบรรจุอาหารลงในบรรจุภัณฑ์ หรือการใช้เทคโนโลยีให้ความร้อน อาจส่งผลให้วิตามินที่ละลายในน้ำอย่างวิตามินซีและวิตามินบีสูญสลายไปได้

ความเสี่ยงจากอาหารกระป๋อง

โดยทั่วไป อาหารกระป๋องเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อาหารภายในบรรจุภัณฑ์อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารพิษบางชนิด เช่น

  • สารบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A: BPA) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระป๋อง โดยมีงานวิจัยพบว่าสารดังกล่าวมีโอกาสปนเปื้อนลงสู่อาหารในกระป๋องได้ และหากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสาร BPA อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น ภาวะบกพร่องทางเพศในผู้ชาย โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
  • แบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum) กระบวนการผลิตอาหารกระป๋องที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่สะอาด รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เกิดความเสียหาย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารภายในกระป๋องปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เจริญเติบโตได้เมื่ออยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจนเท่านั้น เมื่อเชื้อนี้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างภายในกระป๋อง จะผลิตสารพิษโบทูลินัมขึ้นมา โดยผู้บริโภคไม่สามารถได้กลิ่นหรือสังเกตเห็นสีของสารพิษชนิดนี้ได้ แต่หากรับประทานเข้าไปแม้ในปริมาณเล็กน้อย อาจส่งผลให้ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว จุกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรง และเป็นอัมพาตได้ หากไม่รีบไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ ก็อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต

หลักการเลือกบริโภคอาหารกระป๋อง

เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากอาหารกระป๋อง ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลือกซื้อ และเลือกรับประทานอาหารกระป๋อง ดังต่อไปนี้

  • อ่านฉลาก ส่วนผสม วันที่ผลิต และวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่เสียหาย เช่น กระป๋องมีรอยรั่ว แตก บุบ บวม หรือขึ้นสนิม เป็นต้น
  • ไม่รับประทานอาหารกระป๋องที่เมื่อเปิดฝาแล้วมีอากาศ น้ำ หรือฟองพุ่งออกมาจากกระป๋อง รวมทั้งอาหารมีกลิ่นบูดเน่าและมีสีผิดปกติ
  • เลือกอาหารกระป๋องที่มีโซเดียมต่ำ มีน้ำตาลและไขมันน้อย หากเป็นผลไม้กระป๋องก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นผลไม้ในน้ำเชื่อม
  • หลังเปิดกระป๋องแล้ว ควรรับประทานให้หมดภายในครั้งเดียว หากเปิดฝาแล้วมีอาหารเหลือ ควรนำอาหารเทใส่ภาชนะอื่น ๆ ที่สะอาดแล้วปิดฝาให้แน่นหนาก่อนเก็บไว้รับประทานมื้อต่อไป
  • เก็บอาหารกระป๋องไว้ในที่แห้งและเย็น หลีกเลี่ยงสถานที่อับชื้นและมีแสงแดด และควรเก็บไว้ในบริเวณที่สูงมากกว่า 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันสิ่งปรกตามพื้นและสัตว์หรือแมลงชนิดต่าง ๆ เช่น หนู มด แมลงสาบ เป็นต้น