คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับอาหารที่คนท้องห้ามกิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการรับประทานอาหารบางชนิดนั้นเสี่ยงก่อให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นอันตรายต่อครรภ์ได้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อย จึงควรทราบไว้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์
การเลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการและหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพดี และเมื่อต้องรับผิดชอบชีวิตตัวน้อย ๆ ในครรภ์ก็ยิ่งมีข้อควรระมัดระวังในการรับประทานมากขึ้น อาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
- อาหารทะเล การรับประทานปลาหรือสัตว์ทะเลเปลือกแข็งบางชนิด เช่น หอย หรือกุ้ง โดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เนื่องจากสัตว์ทะเลเหล่านี้อาจมีเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เช่น เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) แบคทีเรียซาโมเนลลา (Salmonella) แบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio) แบคทีเรียลิสเทอเรีย (Listeria) เชื้อพยาธิ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้คุณแม่อ่อนแอและเกิดภาวะขาดน้ำ บางชนิดอาจแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์และทำให้ทารกเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ การรับประทานปลาทะเลบางชนิด ได้แก่ ปลาฉลาม ปลาอินทรี ปลาฉนาก ปลาไทล์ อาจทำให้ได้รับสารปรอทที่ตกค้างอยู่ภายในตัวปลาได้ แม้จะผ่านการปรุงสุกแล้วก็ตาม หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจเกิดการสะสม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกและทำให้สมองของทารกเสียหาย ดังนั้น คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ผลิตจากปลาทะเลน้ำลึกเหล่านี้ แต่สามารถบริโภคปลาทะเลที่มีกรดไขมันจำเป็นสูง เช่น ทูน่า แซลมอน ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากปลาชนิดนี้อุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก และหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาดิบหรือซูชิเนื้อปลาที่ไม่ผ่านการปรุงสุก - เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) เป็นเชื้อพบได้ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก นมแพะที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ อุจจาระแมว ดิน และน้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งจะก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อทารกได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยทารกที่ติดเชื้อชนิดนี้ขณะอยู่ในครรภ์จะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่อาจมีภาวะตาบอดหรือบกพร่องทางสติปัญญาได้ในภายหลัง
- ไข่ดิบ เป็นอาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาโมเนลลา การติดเชื้อนี้ส่งผลให้เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย อาจมีอาการปวดเกร็งที่มดลูกจนเกิดการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ ได้แก่ ไข่ลวก มายองเนส น้ำสลัด ไอศกรีมโฮมเมด หรืออ่านฉลากให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์หรือส่วนผสมที่เป็นไข่ดิบนั้นผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- ผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาด ผักผลไม้อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อสตรีมีครรภ์ แต่อาจมีสารเคมีหรือเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก เช่น เชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอ เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อซาโมเนลลา และเชื้อลิสเทอเรีย ซึ่งตกค้างหรือปนเปื้อนมาในกระบวนการเพาะปลูกและขั้นตอนการขนส่งได้ คุณแม่จึงควรล้างทำความสะอาดผักผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง
- ต้นอ่อนของพืชที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานต้นอ่อนของพืชบางชนิด เช่น ถั่วงอก หรือต้นอ่อนทานตะวันที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก เพราะต้นอ่อนเหล่านี้มักมีเชื้อแบคทีเรียตกค้างเป็นจำนวนมากและไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ ต้องปรุงให้สุกเท่านั้นจึงจะปลอดภัย
- ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ น้ำนม ชีส หรือเนยแข็งที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ถือเป็นอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อทารก เช่น เชื้อซาโมเนลลา เชื้ออีโคไล และเชื้อแคมปีโลแบคเตอร์ (Campylobacter) เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี โดยควรอ่านฉลากให้แน่ใจทุกครั้งว่านมและผลิตภัณฑ์จากนมนั้น ๆ ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ เพราะการรับประทานมากเกินไปอาจทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อทั้งทารกในครรภ์และตัวคุณแม่เอง นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูปอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอันตรายอย่างเชื้อลิสเทอเรียในระหว่างการแปรรูปหรือการเก็บรักษา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนนำไปสู่ภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ในปริมาณที่พอเหมาะ คือไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัมนั้นถือว่าปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ แต่หากดื่มมากกว่านี้อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและสูญเสียแคลเซียมได้ เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก ทั้งยังเสี่ยงเกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และภาวะน้ำหนักตัวหลังคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่าการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีนในช่วงไตรมาสแรกอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้ง ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มต้องห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์ เพราะกระทั่งการดื่มในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกได้ และหากดื่มอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้ง ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ และทำให้เกิดกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีใบหน้าผิดปกติ และหัวใจพิการ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
อาหารที่คนท้องควรรับประทาน
นอกจากหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารข้างต้นแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรให้ความใส่ใจเช่นกัน โดยควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้องอย่างเพียงพอตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพื่อให้ลูกน้อยเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ทั้งยังช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและลดน้ำหนักที่เพิ่มมาในระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น