อาหารบำรุงสมองมีส่วนช่วยช่วยในการทำงานของสมองและความจำ ช่วยป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาหารที่รับประทานกันทั่วไปในชีวิตประจำวันหลายชนิดที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงสมอง เช่น แปะก๊วย น้ำมันปลา และน้ำมันมะพร้าว
อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม ส่งผลกระทบด้านความคิด ความทรงจำ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างร้ายแรง ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าในปี 2573 สถิติผู้ป่วยในไทยจะพุ่งขึ้นสูงถึง 1,117,000 คน แต่ยังไม่มีแนวทางการรักษาทางการแพทย์ที่จะช่วยให้หายได้ จึงมีการศึกษาวิธีการป้องกันและรักษาทางเลือกด้วยการรับประทานอาหารบำรุงสมองมากขึ้น
เปิดข้อมูลอาหารบำรุงสมองน่ารู้
หลายคนมีความเชื่อว่าอาหารหลายชนิดช่วยบำรุงสมองได้ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ 3 อาหารบำรุงสมองที่หลายคนอยากรู้ไว้แล้ว
1. แปะก๊วย
แปะก๊วยเป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงความจำ เสริมสร้างการทำงานของสมอง ป้องกันและชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม โดยมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลาย ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท รวมทั้งป้องกันการสะสมของอะไมลอยด์ (Amyloid) สารโปรตีนชนิดหนึ่งที่อาจสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาหลอกกับแปะก๊วยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีการทำงานของสมองเป็นปกติและกลุ่มที่พบความผิดปกติในการทำงานของสมองเล็กน้อย โดยทดลองรับประทานสารสกัดจากแปะก๊วยเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 120 มิลลิกรัม พบว่าแปะก๊วยไม่สามารถช่วยลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมแต่อย่างใด
ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการบริโภคแปะก๊วยเพื่อชะลอการเสื่อมถอยของความทรงจำในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยแม้จะพบว่าแปะก๊วยมีความปลอดภัยในการใช้ แต่ด้านประสิทธิภาพในการป้องกันความจำเสื่อมยังไม่ชัดเจน
การรับประทานแปะก๊วยนั้นถือว่ามีความปลอดภัยกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่จะต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องการรับประทานแปะก๊วยมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้
- แปะก๊วยอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงให้มีอาการปวดและเวียนศีรษะ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ใจสั่น หรือเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง
- หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการตกเลือดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับหญิงที่ต้องให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
- แปะก๊วยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการออกของเลือด หรือผู้ที่กำลังใช้ยาที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- การรับประทานสด ๆ หรือปรุงโดยการคั่วเมล็ดอาจมีพิษและอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
2. น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวจัดเป็นอาหารบำรุงสมองอีกประเภทหนึ่งที่หลายคนเชื่อกันว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ เพราะอุดมด้วยกรดคาไพรลิก (Caprylic acid) กรดไขมันสายยาวที่จะแตกตัวเป็นสารคีโตน (Ketones) ที่ให้พลังงานแก่สมอง และช่วยเสริมความจำ
แต่ข้อสรุปดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ยืนยันได้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะช่วยป้องกันหรือชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ และปัจจุบันยังไม่ปรากฏผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีเพียงการทดลองเฉพาะบุคคลหรือในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ
การได้รับน้ำมันมะพร้าวในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันนั้นมักไม่เกิดอันตรายใด ๆ แต่หากต้องการใช้โดยหวังคุณประโยชน์ด้านใด ๆ ก็ควรระมัดระวังในกรณีต่อไปนี้
- น้ำมันมะพร้าวอาจปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และเด็ก หากได้รับในปริมาณปกติจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน แต่การรับประทานในปริมาณมากกว่าปกติยังไม่มีข้อยืนยันถึงความปลอดภัย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นจึงไม่ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวเสริม
- น้ำมันมะพร้าวอาจไปเพิ่มระดับแคลอรี่ และไขมันชนิดไม่ดีในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถทำปฏิกิริยาต่อยารักษาโรคอื่น ๆ หรือไม่ ผู้ใช้จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนใช้ยาใด ๆ หากกำลังรับประทานน้ำมันมะพร้าว
3. น้ำมันปลา
น้ำมันปลาเป็นอาหารบำรุงสมองที่ประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็นประเภทโอเมก้า 3 สูง ได้แก่กรดไขมันชนิด DHA และ EPA ที่มักพบในแมคเคอเรล ทูน่า แซลมอน โดย DHA เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง และกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ช่วยส่งเสริมและปกป้องเซลล์ประสาท และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
ส่วนหลักฐานจากผลการศึกษาวิจัยนั้นพบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารเสริม DHA ไม่ได้มีส่วนช่วยชะลออาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แต่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับ DHA มีการเรียนรู้และความทรงจำที่ดีขึ้น และมีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพการทำงานของสมองในผู้สูงอายุ
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เนื่องจากผลการศึกษาที่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน และในปัจจุบันยังไม่มีการแนะนำให้ใช้น้ำมันปลาเป็นวิธีหลักในการรักษาและป้องกันโรคอัลไซเมอร์หากเลือกรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริมควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ดังนี้
- โดยทั่วไป แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาในรูปอาหารเสริมวันละ 6 กรัม ต่อเนื่องกันไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือตามที่ระบุบนฉลากยา เพราะการรับประทานปริมาณมากจะเสี่ยงต่อการมีเลือดออก
- ผู้มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาแก้อักเสบกลุ่มเอนเสด (NSAIDs) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้
- น้ำมันปลาอาจมีผลข้างเคียงทำให้มีกลิ่นปาก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรือท้องเสียได้
- ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการบริโภคน้ำมันปลาที่เป็นอาหารเสริมจะปลอดภัยต่อผู้ที่แพ้ปลาหรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกหรือไม่ ผู้มีอาการแพ้เหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
ความปลอดภัยในการใช้อาหารบำรุงสมองเป็นการรักษาทางเลือก
ในปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่ยืนยันว่าสมุนไพร อาหาร หรืออาหารเสริมใด ๆ จะช่วยป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างปลอดภัยและได้ผล และการรักษาทางการแพทย์เองก็ไม่มีการแนะนำให้ใช้อาหารบำรุงสมองทดแทนการรักษาโดยแพทย์
หากคิดว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือคาดว่าจะเกิดภาวะสมองเสื่อม ทางที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น การใช้ยารักษาที่ช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และดูแลสุขภาพผู้ป่วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรม หรือชะลออาการของโรคลง
ผู้ป่วยควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ก่อนใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมใดก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง การเกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคชนิดอื่น หรือกระทบต่อโรคหรือภาวะใด ๆ ที่เป็นอยู่