ทราบกันดีว่าอาหารมังสวิรัตินั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก พ่อแม่หลายคนจึงคาดหวังให้ลูกรักหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติ แต่ทางเลือกนี้จะเหมาะสมและปลอดภัยต่อร่างกายของเด็ก ๆ ที่กำลังเจริญเติบโตจริงหรือไม่ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพวกเขาจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน บทความนี้มีคำตอบมาฝากคุณ
หลายคนเข้าใจว่านักมังสวิรัตินั้นงดรับประทานเนื้อสัตว์เหมือนกันหมด แต่ก่อนที่จะให้ลูกน้อยเปลี่ยนมารับประทานอาหารมังสวิรัติหรือเป็นนักมังสวิรัติเต็มตัว ผู้ปกครองควรรู้ว่าผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัตินั้นสามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่
- นักมังสวิรัติที่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ (Lacto-ovo Vegetarian)
- นักมังสวิรัติที่ยังรับประทานผลิตภัณ์จากนม แต่จะไม่รับประทานไข่ (Lacto Vegetarian)
- นักมังสวิรัติที่ยังรับประทานไข่ แต่จะไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากนม (Ovo Vegetarian)
- นักมังสวิรัติบริสุทธิ์หรือวีแกน โดยจะไม่รับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เลย (Vegan)
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่รับอาหารแบบกึ่งมังสวิรัติ (Semi-vegetarians) ด้วย โดยจะรับประทานเนื้อไก่หรือเนื้อปลาตามปกติ แต่จะงดรับประทานเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ อย่างเนื้อหมูหรือเนื้อวัว
ให้ลูกรับประทานมังสวิรัติ ดีหรือไม่ ?
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและการแพทย์ส่วนใหญ่กล่าวว่าอาหารมังสวิรัติที่วางแผนมาอย่างดีและเหมาะสมกับร่างกายอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเน้นไปที่ผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งมีใยอาหารสูงและไขมันต่ำ จึงอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้นได้
แต่หากจะนำทางเลือกนี้มาปรับใช้กับบุตรหลาน ผู้ปกครองควรระมัดระวังไม่ให้เด็กขาดสารอาหารบางชนิดที่จำเป็นต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุต่อไปนี้
วิตามินบี 12
วิตามินชนิดนี้จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมองของน้อง รวมทั้งใช้ในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ อาหารที่ทำจากธัญพืชอย่างขนมปังหรือซีเรียล หรือน้ำเต้าหู้ เป็นต้น
วิตามินดีและแคลเซียม
วิตามินดีจะช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสได้ดีขึ้น ส่วนแคลเซียมจะเป็นกุญแจสำคัญในกระบวนสร้างกระดูกและฟัน ทำให้กระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง เด็กที่ขาดวิตามินดีหรือแคลเซียมอาจมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกอย่างโรคกระดูกอ่อนได้ โดยแคลเซียมมักพบได้ในอาหารประเภทนม นมถั่วเหลือง ผักใบเขียว ซีเรียล น้ำส้ม ถั่ว หรือซีเรียล
โปรตีน
โดยปกติ เด็กจำเป็นต้องมีโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ อวัยวะต่าง ๆ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอ โปรตีนจึงเป็นสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ ซึ่งจะพบได้มากในผลิตภัณฑ์นมและไข่ รวมถึงอาหารประเภทอื่น ๆ อย่างผัก ถั่วลันเตา เต้าหู้ หรือธัญพืช
เหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยจะช่วยจับออกซิเจนภายในกระแสเลือดและส่งไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง แม้ธาตุเหล็กส่วนใหญ่จะพบมากในเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมู เนื้อวัว และตับ ซึ่งผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจรับประทานไม่ได้ แต่สามารถทดแทนได้จากการรับประทานไข่ ถั่วแห้ง ผลไม้แห้ง ธัญพืช ผักใบเขียว หรือขนมปัง
สังกะสี
หากมีธาตุสังกะสีในร่างกายน้อยจนเกินไปอาจทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ช้าและมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง อาหารมังสวิรัติจึงควรมีธาตุสังกะสีด้วยเพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตดำเนินไปอย่างเป็นปกติและมีภูมิคุ้มกันที่ดี เช่น ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ถั่ว หรือเมล็ดฟักทอง เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ไฟเบอร์หรือใยอาหารจากในอาหารมังสวิรัติจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการดูดซึมสารอาหารโดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม รวมทั้งทำให้เด็กอิ่มเร็วกว่าปกติ และได้รับพลังงานไม่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการด้วย ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเด็กเล็กและทารก แต่ควรให้น้องรับประทานอาหารตามปกติให้ครบ 5 หมู่และรับประทานอาหารที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกังวลว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติอาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารมังสวิรัติ หรือต้องการคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับลูก ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเสมอ