อาหารอ่อน เป็นอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง ?

อาหารอ่อนจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ทั้งผู้ที่อาจไม่สามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้ตามปกติ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารอ่อนจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พักจากการทำงานหนักชั่วคราว

อาหารอ่อน

อาหารอ่อน คือ อะไร ?

อาหารอ่อน คือ อาหารที่ผ่านการสับ บด หั่น ปั่น หรือปรุงให้มีลักษณะอ่อนนิ่ม เพื่อให้เคี้ยวหรือกลืนได้ง่ายและดีต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย รวมถึงลดการเกิดแก๊สในกระเพาะและลำไส้ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง และไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม อาหารอ่อนอาจไม่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นในระยะยาวได้ จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

อาหารอ่อนเหมาะสำหรับใคร ?

อาหารอ่อนจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ตามปกติ รวมถึงบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
  • ผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ
  • ผู้ที่เข้ารับการถอนฟัน ผ่าฟัน หรือผ่าตัดภายในช่องปาก กระดูกกราม และขากรรไกร
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดลำคอ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งไทรอยด์
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกะโหลกศีรษะหรือสมอง

การเตรียมอาหารอ่อน

การเตรียมอาหารอ่อนสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยเริ่มจากหั่นวัตถุดิบอย่างผักและเนื้อสัตว์ให้มีขนาดเล็กประมาณครึ่งนิ้วหรือเล็กกว่านั้น แล้วนำไปต้มในน้ำซุปให้นิ่มพอที่จะใช้ส้อมบด หรืออาจใช้เครื่องบดให้อาหารนิ่มละเอียดและสะดวกต่อการรับประทาน

ตัวอย่างของอาหารอ่อน ได้แก่

  • ไข่ลวก ไข่ต้ม ไข่น้ำ ไข่ตุ๋น ไข่คน
  • ฟองเต้าหู้ เต้าหู้ต้มหรือบด
  • นมวัว นมแพะ นมถั่วเหลือง โยเกิร์ตที่ไม่มีส่วนประกอบของผลไม้หรือธัญพืช
  • เนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มจนสุกและนิ่ม
  • แกงจืดวุ้นเส้น
  • โจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวสวย ซุปมะกะโรนี
  • มันต้ม มันบด
  • ผลไม้ในรูปแบบของผลไม้บดหรือน้ำผลไม้ โดยต้องไม่มีเปลือกของผลไม้นั้น ๆ เช่น กล้วยสุก แตงโม แตงไทย มะละกอสุก มะม่วงสุก อะโวคาโด ลูกพีช เป็นต้น
  • กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ แครอท รวมถึงผักที่นำไปนึ่งหรือต้มจนสุกนิ่มและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานอาหารอ่อนควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงหรืออาหารที่ย่อยยาก เช่น ผักสด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีต ซีเรียล ถั่ว ธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพดคั่ว น้ำอัดลม เป็นต้น และควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อน เพื่อให้เลือกรับประทานอาหารอ่อนอย่างเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย