อาหารเพิ่มน้ำนม ช่วยได้จริงหรือ

หลังจากคลอดบุตร สิ่งสำคัญ คือ การเลี้ยงดูให้เด็กเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ น้ำนมจากอกแม่ถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสุขภาพของเด็กแรกเกิด โดยปกติแล้ว คุณแม่ควรให้นมลูกเป็นอาหารหลักตั้งแต่เด็กเกิดไปจนเด็กมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน-1 ปี หากผู้เป็นแม่ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการในการเจริญเติบโตของเด็ก ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ ดังนั้น จึงมีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับการกระตุ้นให้แม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือการกินอาหารเพิ่มน้ำนม

อาหารเพิ่มน้ำนม

อาการต่อไปนี้เป็นสัญญาณว่าเด็กได้รับน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอแล้ว

  • รู้สึกสบายและไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ในขณะให้นมลูก
  • เด็กกินนมอย่างน้อย 6-8 ครั้ง/วัน และเด็กสบายขึ้น ไม่งอแงหลังให้นมแล้ว
  • รู้สึกโล่งหรือเบาขึ้นบริเวณหน้าอกหลังการให้นม
  • เห็นหรือได้ยินเสียงเด็กกลืนในขณะให้นม
  • เด็กผลักตัวออกจากอกเองเมื่อรู้สึกอิ่มแล้ว
  • เด็กปัสสาวะอย่างน้อย 7 ครั้ง/วัน และเมื่อเด็กขับอุจจาระออกมา จะพบว่าอุจจาระมีสีเหลืองและมีก้อนคล้ายนมข้นปนอยู่ด้วย

แต่หากกังวลว่าลูกน้อยอาจกำลังได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ หรือร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และหาแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

อาหารเพิ่มน้ำนม ความเชื่อหรือความจริง ?

ลูกซัด (Fenugreek หรือ Methi)

ลูกซัด เป็นสมุนไพรคล้ายใบโคลเวอร์ (ใบไม้แห่งความโชคดี 3-4 แฉก) ลูกซัดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินที่ดีต่อสุขภาพ อย่างโอเมก้า-3 เบต้าแคโรทีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ซึ่งดีต่อร่างกายของคุณแม่ในช่วงให้นมบุตรและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองของเด็กแรกเกิด จึงมีการนำลูกซัดและเมล็ดของลูกซัดมารับประทานเป็นอาหาร ดื่มในรูปแบบชา หรือสกัดทำยา โดยเชื่อว่าเมล็ดลูกซัดอาจมีสรรพคุณในการเพิ่มปริมาณน้ำนมจากอกของคุณแม่หลังคลอด

ทางด้านข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับลูกซัด มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งทำการทดลองโดยให้คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรดื่มชาที่มีส่วนผสมของลูกซัด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มีสัญญาณบ่งชี้ถึงปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ในกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้บริโภคชาที่มีส่วนผสมของลูกซัด จึงอาจกล่าวได้ว่า อาหารเพิ่มน้ำนมที่มีส่วนผสมของลูกซัดอาจช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม และมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวเด็กในระยะหลังคลอดได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ชัดเจนทางการแพทย์เกี่ยวกับลูกซัดที่สัมพันธ์กับการเพิ่มปริมาณน้ำนมในแม่ที่ให้นมบุตรยังคงมีจำกัด ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การศึกษาหาข้อมูลให้ดี และระมัดระวังในการบริโภคลูกซัด

ตัวอย่างข้อควรระวังในการบริโภคลูกซัด ได้แก่

  • การรับประทานลูกซัดจะปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณที่อยู่ในอาหารปกติ หรือรับประทานเป็นอาหารเสริมภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ โดยควรรับประทานติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
  • ในผู้ที่แพ้ง่ายหรือมีภาวะภูมิไวเกิน ลูกซัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคัดจมูก ไอ จาม หน้าบวม หรืออาจมีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงได้
  • ลูกซัดจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับพืชตระกูลถั่วบางชนิด หากผู้บริโภคแพ้อาหารอย่างถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ก็อาจแพ้ลูกซัดไปด้วย
  • ลูกซัดอาจส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงได้ ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม หากต้องการบริโภคลูกซัด
  • ลูกซัดอาจส่งผลทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ เช่น ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน เรอ มีแก๊สในช่องท้อง หรือปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายเมเปิลไซรัป

ผักชีล้อม (Fennel)

ผักชีล้อมเป็นพืชล้มลุก และสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีดอกสีเหลือง ผักชีล้อมมีลักษณะและรสชาติคล้ายต้นเทียนสัตตบุษย์ เมล็ดของผักชีล้อมมักถูกนำมาใช้ปรุงอาหารหรือทำยา ผักชีล้อมเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่เชื่อว่าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอดได้ ทั้งยังอาจช่วยป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะและอาการโคลิคในเด็กได้ การรับประทานผักชีล้อมอาจช่วยบรรเทาต่าง ๆ ในระบบอาหาร รวมทั้งอาการท้องไส้ปั่นป่วน ซึ่งเชื่อว่าหากผู้เป็นแม่รับประทานผักชีล้อม ก็อาจส่งผลดีต่อเด็กได้ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในงานวิจัยที่มีกลุ่มทดลองเป็นคุณแม่ที่บริโภคผักชีล้อม พบว่ามีสัญญาณสำคัญของการเพิ่มปริมาณน้ำนม เช่น ป้อนนมลูกบ่อยขึ้น เด็กปัสสาวะและขับถ่ายบ่อยขึ้น น้ำหนักตัวเด็กเพิ่มขึ้น และเส้นรอบวงบริเวณศีรษะของเด็กโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มควบคุม

แม้มีข้อบ่งชี้หรือความแตกต่างที่น่าสนใจบางประการ แต่หลาย ๆ งานวิจัยยังไม่มีผลลัพธ์ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว หรือไม่มีการวัดปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าผักชีล้อมมีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำนมจริงหรือไม่

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับพืชชนิดนี้ยังคงมีจำกัด ดังนั้น คุณแม่ที่ต้องการบริโภคผักชีล้อมเพื่อเพิ่มน้ำนม ควรศึกษาหาข้อมูลทางสุขภาพให้ถี่ถ้วนก่อน

ตัวอย่างข้อควรระวังในการบริโภคผักชีล้อม ได้แก่

  • การรับประทานผักชีล้อมจะปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณอาหารปกติ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันความปลอดภัยในการใช้ผักชีล้อมในรูปแบบยาหรืออาหารเสริม
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ต่อพืชผัก เช่น ขึ้นฉ่าย จิงจูฉ่าย แครอท มีโอกาสที่น่าจะแพ้ผักชีล้อมเช่นกัน
  • ผักชีล้อมอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองที่ผิวหนังได้ และอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดจนทำให้เกิดอาการแดดเผาได้ง่าย ผู้ที่มีผิวบางจึงควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปสัมผัสแสงแดดอยู่เสมอ
  • สำหรับผู้ที่กำลังให้นมบุตร ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดถึงคุณประโยชน์ของผักชีล้อม และเคยมีรายงานเกี่ยวกับทารกซึ่งได้รับการให้นมจากมารดาที่ดื่มชาสมุนไพรซึ่งมีส่วนประกอบของผักชีล้อม แล้วเด็กเกิดความเสียหายที่ระบบประสาท ดังนั้น คุณแม่ยังไม่ควรเสี่ยงบริโภคผักชีล้อมในขณะกำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผักชีล้อมอาจลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกหรือฟกช้ำได้ง่ายในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ผักชีล้อมมีลักษณะทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ในบางภาวะอาจทำให้อาการแย่ลงเมื่อได้รับเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีเนื้องอกมดลูก เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผักชีล้อม

หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นเหยียดตรง มีรากและลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนใหญ่คนนำมาประกอบอาหาร และบางที่อาจมีการสกัดเป็นยา เนื่องจากหน่อไม้ฝรั่งมีสารอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น เส้นใยอาหาร วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 6 กรดโฟลิค และแร่ธาตุอื่น ๆ

ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย หน่อไม้ฝรั่งจึงเป็นหนึ่งในพืชผักสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ทดลองหาคุณสมบัติในการกระตุ้นให้คุณแม่หลังคลอดมีน้ำนมเลี้ยงลูกเพิ่มมากขึ้น การทดลองหนึ่งที่นำเอาสมุนไพรหลากชนิดมาใช้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นน้ำนมของแม่เด็ก อย่างลูกซัด หน่อไม้ฝรั่ง มิลค์ ทิสเซิล (Milk Thistle) มาใช้ร่วมกับยาเมโทรโคลพราไมด์ (Metoclopramide) แม้จะมีหลักฐานบางส่วนเกี่ยวกับประสิทธิผลของสมุนไพรเหล่านี้รวมทั้งหน่อไม้ฝรั่งด้วยในการกระตุ้นการผลิตน้ำนม แต่งานค้นคว้าเหล่านี้ยังคงขาดการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ และการทดลองก็ยังคงเป็นเพียงงานค้นคว้าเล็ก ๆ ที่มีข้อจำกัดมากมาย ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่า หน่อไม้ฝรั่งมีประสิทธิผลช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรจึงควรพิจารณาและศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง เพราะอาหารต่าง ๆ รวมทั้งหน่อไม้ฝรั่ง อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และอาจมีผลกระทบไปยังลูกผ่านทางน้ำนมจากอกแม่ได้ด้วย

ตัวอย่างข้อควรระวังในการบริโภคหน่อไม้ฝรั่ง ได้แก่

  • การรับประทานหน่อไม้ฝรั่งจะปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณอาหารปกติ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันความปลอดภัยในการใช้หน่อไม้ฝรั่งในรูปแบบยาหรืออาหารเสริม
  • หน่อไม้ฝรั่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากรับประทานในรูปแบบผักสด หรือใช้สัมผัสบริเวณผิวหนังโดยตรง
  • ผู้ที่แพ้ต่อพืชประเภทกระเทียม หัวหอม กระเทียมต้น กุยช่าย หรือพืชที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ มีโอกาสที่จะแพ้หน่อไม้ฝรั่งและเกิดปฏิกิริยาเป็นอาการแพ้ต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การบริโภคหน่อไม้ฝรั่งอาจไม่ปลอดภัยหากบริโภคในรูปแบบและปริมาณของอาหารเสริมหรือสารสกัด

ขิง

ขิง เป็นพืชที่มีรสเผ็ด ส่วนเหง้าจะถูกนำมาประกอบอาหารและสกัดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกเหนือจากเป็นส่วนประกอบในอาหาร ยา หรืออาหารเสริม ขิงยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย แต่การพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของขิงในเชิงการรักษาโรคต่าง ๆ ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด

ในเอเชีย มีความเชื่อเกี่ยวกับสรรพคุณของขิงในการกระตุ้นการผลิตน้ำนมในผู้ที่ให้นมบุตร จึงมีการทดลองมากมายเกี่ยวกับประสิทธิผลของขิง การทดลองหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ใช้พืชสมุนไพรรวมกัน 13 ชนิด รวมทั้งขิงด้วย เพื่อทดสอบประสิทธิผลในการเพิ่มน้ำนมแก่คุณแม่หลังคลอด ผลคือ ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นในวันที่ 4, 5 และ 6 ของการทดลอง แต่การศึกษานี้ไม่สามารถยืนยันผลอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือวัดผลที่แน่นอน และไม่มีการเปรียบเทียบกับตัวอย่างในกลุ่มควบคุม

ส่วนในประเทศไทย มีการทดลองหนึ่งที่ใช้ขิงเพื่อทดสอบประสิทธิผลในการเพิ่มน้ำนม พบว่าในวันที่ 3 ของการทดลอง ผู้ที่ให้นมบุตรในกลุ่มทดลองที่บริโภคขิงมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่กลับไม่มีผลลัพธ์ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญในวันที่ 7 ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าขิงมีประสิทธิผลช่วยกระตุ้นน้ำนมได้จริง

ด้วยผลการทดลองที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดถึงประสิทธิผลของขิงต่อผู้ที่กำลังให้นมบุตร คุณแม่ทั้งหลายจึงควรพิจารณาและศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนรับประทาน เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และตัวลูกน้อยด้วย

ตัวอย่างข้อควรระวังในการบริโภคขิง ได้แก่

  • การรับประทานขิงในปริมาณที่พอดีไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ในบางรายอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย  อึดอัดไม่สบายท้อง หรืออาจมีความเสี่ยงประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขิงในปริมาณที่เหมาะสมในระยะสั้นไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ในบางรายอาจเกิดอาการแพ้และระคายเคืองที่ผิวหนัง
  • การบริโภคขิงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออก เพิ่มระดับอินซูลิน หรือลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ การรับประทานขิงในรูปแบบยาในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีทางการรักษา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนใช้เสมอ
  • ส่วนผลข้างเคียงของขิงต่อผู้ที่กำลังให้นมบุตรยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การบริโภคขิงอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออก ดังนั้น แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่แน่ชัด ผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรระมัดระวังความปลอดภัยไว้ก่อน และอาจพิจารณาหลีกเลี่ยงการบริโภคขิงในระหว่างนี้

คุณแม่หลังคลอด สามารถรับประทานอาหารเพิ่มน้ำนมได้จริงไหม ?

ทุกวันนี้ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่สามารถยืนยันประสิทธิผลของอาหารชนิดใดในการกระตุ้นให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น หากคุณแม่อยู่ในช่วงให้นมบุตรแล้วมีความวิตกกังวล หรือมีสัญญาณที่สำคัญว่าลูกอาจได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนรักษารับมือต่อไป เพราะในช่วงที่ต้องให้นมบุตร การที่คุณแม่บริโภคอาหารชนิดใดเข้าไป อาจส่งผลต่อลูกน้อยผ่านทางน้ำนมได้ด้วย คุณแม่จึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงทุกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

ถ้าไม่ใช่การรับประทานอาหาร จะมีวิธีการเพิ่มน้ำนมได้อย่างไร ?

นอกเหนือจากการรักษาหรือการรับยาตามที่แพทย์สั่ง วิธีการที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยันและเชื่อถือได้ คือ การป้อนนมเด็กตั้งแต่แรกคลอด เรียนรู้การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ การนวดบริเวณทรวงอก การประคบร้อนบริเวณทรวงอก การใช้มือบีบเต้านม การใช้เครื่องปั๊มนมช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม และการใช้ยากระตุ้นน้ำนมภายใต้การดูแลของแพทย์อย่าง ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) และยาเมโทรโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เป็นต้น