อาหารโซเดียมสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่โรคไตวายได้ เพราะไตนั้นมีหน้าที่กำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากก็อาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้นและไตเสื่อมได้
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าเกลือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะไตวาย แต่จริง ๆ แล้ว เกลือเป็นโซเดียม (Sodium) รูปแบบหนึ่งเท่านั้น และอาจแฝงอยู่ในบรรดาอาหารและเครื่องปรุงต่าง ๆ นอกเหนือจากเกลือได้ด้วย
กินอาหารโซเดียมสูงแล้วทำไมเสี่ยงไตวาย
โซเดียมเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่ในการควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกายให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ทว่าโซเดียมกลับเป็นสารอาหารที่เหมือนดาบสองคม เพราะสามารถทำลายสุขภาพได้หากร่างกายได้รับมากหรือน้อยจนเกินไป
ถ้าร่างกายได้รับโซเดียมไม่เพียงพอ อาจทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ และอาจเกิดอาการบวมน้ำ แต่ถ้าหากรับประทานมากเกินไป จะทำให้โซเดียมในร่างกายเสียสมดุล และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตก็จะเสื่อมสภาพและมีภาวะไตวายในที่สุด
โซเดียมที่อยู่ใกล้ตัวและเป็นที่รู้จักกันดีคือเกลือ นอกจากนี้ ยังมีผงชูรสหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate) และผงฟูหรือเบกกิ้งโซดา ที่ใช้เป็นส่วนผสมของขนมปังและขนมอบต่าง ๆ ก็มีสารประกอบของโซเดียมด้วย โดยจะอยู่ในรูปโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate)
โซเดียมเหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเครื่องปรุง อาหารแปรรูป อาหารปรุงสำเร็จ อาหารกึ่งสำเร็จรูป หรือแม้แต่เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างไส้กรอก เบคอนและแฮม หากรับประทานอาหารเหล่านี้มากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินจำเป็น และเสี่ยงต่อโรคไตวายนั่นเอง
ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าเกลือป่น 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม 2,300 มิลลิกรัมเป็นปริมาณสูงสุดที่ไม่ควรได้รับเกินต่อวัน แต่ไม่ใช้ปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งคนในแต่ละช่วงวัย เพศ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์มีปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อวันที่แตกต่างกัน
6 อาหารโซเดียมสูงที่ควรเลี่ยง
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าโซเดียมไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเกลือหรืออาหารรสเค็มเพียงเท่านั้น แต่ยังอาจอยู่ในอาหารประเภทอื่นด้วย ซึ่งอาหารต่อไปนี้เป็นอาหารโซเดียมสูงที่หากรับประทานบ่อย ๆ ภาวะไตวายอาจมาเยือนโดยไม่รู้ตัว
1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูปก็ย่อมต้องมีปริมาณโซเดียมที่สูงเป็นเงาตามตัว โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียง 1 ซอง (55-60 กรัม) มีปริมาณโซเดียมถึง 1,480-1,500 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณโซเดียมที่อยู่ในอาหารชนิดนี้มีอยู่ในเส้นบะหมี่ และเครื่องปรุง
2.เนื้อสัตว์แปรรูป
ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก แฮม หรือแม้แต่เบคอนก็ล้วนแต่เป็นอาหารที่อันตราย เพราะอาหารเหล่านี้ต้องใช้เกลือจำนวนมากในแปรรูป แค่เบคอนเพียง 100 กรัมก็มีปริมาณโซเดียมถึง 751 มิลลิกรัม ในขณะที่ไส้กรอกหมู 1 ชิ้น มีปริมาณโซเดียม 388 มิลลิกรัมเลยทีเดียว
3.น้ำผลไม้
อีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสุขภาพ หลายคนคิดว่าการดื่มน้ำผลไม้นั้นดีต่อสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้วกลับเต็มไปด้วยน้ำตาล แถมด้วยโซเดียมอีกเพียบ น้ำมะเขือเทศเพียง 1 แก้ว ปริมาณ 200 มิลลิลิตรก็มีโซเดียมสูงถึง 280 มิลลิกรัมเลยทีเดียว
4.ขนมขบเคี้ยว
ตกบ่ายทีไรก็รู้สึกหิวจนอาจต้องไปหยิบขนมขบเคี้ยวมารับประทาน แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะขนมขบเคี้ยวบางอย่างก็มีโซเดียมสูง เช่น ถั่วลิสงอบเกลือ 100 กรัม มีโซเดียมกว่า 400 มิลลิกรัม หรือจะเป็นมันฝรั่งทอด 1 ที่ ก็มีโซเดียมถึง 149 มิลลิกรัม
5.เครื่องปรุง
แม้จะช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยและทำให้อาหารมีสีสันมากขึ้น แต่ปริมาณโซเดียมก็สูงเป็นเงาตามตัว อย่างซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะมีโซเดียมสูงถึง 149 มิลลิกรัม ส่วนน้ำปลาในปริมาณเท่ากัน มีโซเดียมสูงถึง 1,620 มิลลิกรัม
6.ขนมปัง
อาจจะเคยได้ยินมาว่าการรับประทานขนมปังโฮลวีท หรือขนมปังที่ทำจากธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีนั้นดีกับสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้ว ขนมปังโฮลวีท 1 แผ่นมีโซเดียม 125 มิลลิกรัม ขณะที่ขนมปังขาวมีโซเดียมเพียง 117 มิลลิกรัม
การรับประทานอาหารโซเดียมสูงเหล่านี้บ่อย ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะไตวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหาร ดังนั้น จึงควรรับประทานแต่พอดี ลดอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงผงชูรส ลดอาหารแปรรูป ลดอาหารที่มีน้ำจิ้ม ลดการใส่เครื่องปรุงหรือซอสในอาหารที่ปรุงมาแล้ว และอ่านฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบปริมาณโซเดียมเสมอ เพียงเท่านี้ความเสี่ยงโรคไตวายก็ไม่มาเยือนกันง่าย ๆ แน่นอน