อิ่มไว อาจเป็นอาการที่ใครหลายคนฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยน่ากลัว ไม่มีความรุนแรง และไม่เป็นอันตรายมากนัก หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำสำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนัก
แม้จะฟังดูไม่ค่อยรุนแรง แต่หากอาการอิ่มไวที่ผิดปกติเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะร่างกายขาดสารอาหาร กระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง และอาจกำลังบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายหรือเป็นสัญญาณของโรคร้ายบางชนิดได้
อิ่มไว เป็นสัญญาณของโรคอะไรหรือไม่
โดยปกติแล้วปริมาณความต้องการอาหารของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ ยีน น้ำหนัก ส่วนสูง และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน บางคนอาจรู้สึกว่าต้องการอาหารปริมาณมาก ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าต้องการอาหารปริมาณน้อยและอิ่มค่อนข้างไว แม้จะรับประทานอาหารไปเพียงไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาการอิ่มไวอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกาย เช่น
1. ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า (Gastroparesis)
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการอิ่มไว โดยเป็นภาวะที่กระเพาะอาหารบีบตัวช้าลง หรือในบางกรณีอาจหยุดทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปเกิดการคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารแทน ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จึงมักรู้สึกอิ่มไวผิดปกติ
นอกจากจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มไวแล้ว ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้ายังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลดผิดปกติ วิตกกังวล และหงุดหงิดง่าย
ผู้ที่พบสัญญาณผิดปกติติดต่อนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และสงสัยว่าเป็นภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่พบว่าอาการอิ่มไวเกิดขึ้นร่วมกับอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
2. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)
ภาวะกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารจนเกิดการระคายเคือง โดยนอกจากอาการอิ่มไวแล้ว ภาวะกรดไหลย้อนยังส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรืออาหารบางชนิด มีรสเปรี้ยวหรือขมในปาก เจ็บหน้าอก ไอแห้ง เสียงแหบ เจ็บคอ กลืนลำบาก และรู้สึกเหมือนมีก้อนในลำคอ
ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายภาวะกรดไหลย้อน ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกพร้อมกับอาการหายใจไม่อิ่ม หรือเจ็บหน้าอกพร้อมกับปวดบริเวณขากรรไกรหรือแขน เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายอื่นได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack)
3. แผลในกระเพาะอาหาร
การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพที่ลดลงหรือทำงานผิดปกติไป ซึ่งนอกจากอาการอิ่มไวแล้ว ภาวะแผลในกระเพาะอาหารยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ อีกด้วย โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวดแสบร้อนในท้อง โดยเฉพาะขณะท้องว่างและตอนกลางคืน ปวดหลัง แสบร้อนกลางอก แน่นท้อง และคลื่นไส้
ภาวะแผลในกระเพาะอาหารเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ แผลอาจลุกลามหรือเกิดเลือดออกได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมทันที
4. ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส เป็นโรคที่ส่งผลให้ลำไส้ของผู้ป่วยทำงานผิดปกติไป ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จึงมีบอาการอิ่มไวและมีอาการปวดท้องเกร็งร่วมกับอาการท้องเสียหรือท้องผูก โดยลักษณะอาการมักจะเกิดเรื้อรังติดต่อกันนานหลายปี
5. มะเร็ง
อาการอิ่มไวอาจมีสาเหตุมาจากทั้งตัวโรคมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด โดยชนิดของโรคมะเร็งที่มักส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการอิ่มไว ได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก และมะเร็งตับอ่อน
นอกจากอาการอิ่มไวแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังอาจพบอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ การรับรสชาติผิดปกติไป อ่อนเพลีย ปากแห้ง ต่อมน้ำเหลืองโต
แม้อาการอิ่มไวจะเป็นอาการที่ฟังดูไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่หากเป็นอาการที่ผิดปกติและเกิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไปอาจเป็นสัญญาณของโรคได้มากมาย
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการอิ่มไวบ่อยครั้ง หรือมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดท้อง เจ็บคอ เจ็บหน้าอก กลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก มีไข้ อุจจาระเป็นสีดำ น้ำหนักขึ้นผิดหรือลดผิดปกติ