เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนบางชนิดจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ดังนั้น คนท้องควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ และศึกษาผลกระทบที่อาจได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเหล่านี้ เพื่อเตรียมตัวดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงและปลอดภัย
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ทำหน้าที่อย่างไร ?
ฮอร์โมนการตั้งครรภ์เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนที่ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และช่วยปรับเปลี่ยนสรีระร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการอุ้มท้อง
นอกจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะมีหน้าที่ควบคุมกลไกของร่างกายและควบคุมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แล้ว ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการต่าง ๆ ได้ เช่น อาการแพ้ท้อง แสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อน เป็นต้น เนื่องจากระดับของฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์และความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ผิวพรรณดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล มีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมทางร่างกายหรือการออกกำลังกาย เป็นต้น
ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง ?
ในกระบวนการตั้งครรภ์ ร่างกายผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนสำคัญซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) เป็นฮอร์โมนที่พบได้ในระหว่างตั้งครรภ์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่พบในรก หรือช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกจะพบในเลือดและปัสสาวะของคุณแม่ ฮอร์โมนดังกล่าวถูกนำมาใช้ตรวจการตั้งครรภ์ ทั้งการทดสอบด้วยตัวเองและการตรวจโดยวิธีทางการแพทย์ นอกจากนี้ ฮอร์โมนชนิดนี้ยังก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในสตรีมีครรภ์ได้ด้วย
- ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซ็นตัลแลคโทเจน (Human Placental Lactogen: HPL) เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นภายในรก มีหน้าที่ส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์และกระตุ้นต่อมน้ำนมภายในเต้านมให้พร้อมสำหรับการให้นมลูก
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำหน้าที่พัฒนาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ แต่เมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะถูกผลิตออกมาจากรกอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่และรกในระหว่างตั้งครรภ์ มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ถูกผสมจนเกิดการปฏิสนธิฝังตัวและเติบโตเป็นทารกได้
- ฮอร์โมนออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวมากขึ้น ซึ่งช่วยในการคลอดบุตร
- ฮอร์โมนโปรแลคติน ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำนม โดยเมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนดังกล่าวจะเพิ่มจำนวนขึ้น 10-20 เท่าจากปกติ
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร ?
เมื่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์เกิดความเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา โดยมีฮอร์โมนหลายชนิดที่จะส่งผลต่อร่างกายเมื่อมีระดับสูง เช่น
ฮอร์โมนเอสโตรเจน ในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ ส่งผลให้มดลูกและรกพัฒนาให้เหมาะกับการตั้งครรภ์ เช่น
- เสริมสร้างเส้นเลือดบริเวณรกและมดลูก
- ช่วยในการขนส่งสารอาหารต่าง ๆ ไปยังทารก
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติอย่างมากในระหว่างตั้งครรภ์ โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนดังกล่าวจะส่งผลให้เส้นเอ็นและข้อต่อเกิดการคลายตัวมากขึ้น รวมทั้งทำให้โครงสร้างภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับทารกในครรภ์และการคลอดบุตรที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า โดยมีผลต่อร่างกายคุณแม่ ดังนี้
- ทำให้มดลูกขยายตัวและเปลี่ยนแปลงรูปร่างของคุณแม่
- กระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่
- ช่วยให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น เพื่อป้องกันอสุจิตัวอื่นมาผสมกับไข่
- ช่วยเพิ่มอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์
- ส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน
- ทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม
- ป้องกันการหดตัวของมดลูกระหว่างการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ยังอาจส่งผลให้คุณแม่มีลักษณะท่าทางที่เปลี่ยนแปลงไป มีหน้าอกที่ขยายใหญ่ขึ้น ท้องโตขึ้น บริเวณหลังมีส่วนโค้งเว้าและทำให้การทรงตัวของคุณแม่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้นด้วย คุณแม่จึงควรระมัดระวังตัวและการเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษในระหว่างที่ตั้งครรภ์