เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ติดมากับรถยนต์ มีไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้องทุกครั้งเมื่อออกเดินทางนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อประสบอุบัติเหตุ
เข็มขัดนิรภัยช่วยป้องกันภัยอย่างไรบ้าง ?
หลายคนอาจสงสัยว่า เพียงแค่คาดเข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดการบาดเจ็บหรือช่วยชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างไร คำตอบ คือ เข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบมาให้คาดผ่านส่วนที่แข็งแรงที่สุดของร่างกายไว้อย่างสะโพกและหัวไหล่ จึงทำให้เข็มขัดสามารถกระชับและประคองร่างกายได้เป็นอย่างดีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
โดยเข็มขัดนิรภัยมีประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ ดังนี้
- ช่วยไม่ให้คนกระเด็นออกไปนอกตัวรถจากแรงกระแทกหรือแรงเหวี่ยง
- ช่วยกระจายแรงกระแทกที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ช่วยป้องกันศีรษะหรือร่างกายส่วนบนเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือบริเวณแผงหน้ารถ เป็นต้น
- ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงได้
- ช่วยป้องกันสมองและกระดูกสันหลังจากอันตราย เพราะหากศีรษะได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้อง
แม้เข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดการบาดเจ็บหรือช่วยชีวิตจากอุบัติเหตุได้ แต่หากไม่เรียนรู้หรือศึกษาวิธีการใช้งานให้ถูกต้อง ก็อาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเกิดอันตรายต่อร่างกายได้
โดยวิธีการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง มีดังนี้
- คาดเข็มขัดนิรภัยเส้นบนให้พาดผ่านไหล่ ห้ามคาดผ่านบริเวณคอ
- คาดเข็มขัดนิรภัยเส้นล่างให้พาดผ่านหน้าขา ห้ามคาดผ่านบริเวณหน้าท้อง
- คาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเมื่อเดินทางโดยรถยนต์ ไม่ว่าจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล
- ผู้โดยสารทุกคน รวมถึงผู้ที่นั่งอยู่เบาะหลังและผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อยก่อนเดินทางเสมอ
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรนั่งในคาร์ซีทหรือนั่งที่เบาะหลัง ซึ่งผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กนั่งในท่าที่เหมาะสมและสบายตลอดการเดินทาง โดยจัดให้เด็กนั่งพิงหลังกับเบาะของคาร์ซีท และนั่งให้งอเข่าได้พอดีกับขอบที่นั่ง
- ห้ามนำคาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะมายึดกับเข็มขัดนิรภัยในบริเวณที่มีถุงลมนิรภัย
- ห้ามใช้เข็มขัดนิรภัยร่วมกัน ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนั่งประจำที่ของตนพร้อมคาดเข็มขัดนิรภัยของตนเองเท่านั้น
ทั้งนี้ ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ควรตรวจดูการคาดเข็มขัดนิรภัยของเด็กให้ถูกต้องอีกครั้ง เพราะเด็กอาจรำคาญและขยับเข็มขัดนิรภัยไปอยู่บริเวณอื่น เช่น เอาไปไว้หลังหัวไหล่ เอาไว้ใต้แขน หรือดึงไปไว้ด้านหลัง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เข็มขัดนิรภัยหย่อนและทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหากเกิดอุบัติเหตุ และอาจเป็นผลให้เด็กเสี่ยงได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้