โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder: NPD) เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะมีลักษณะนิสัยที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง อยากให้คนอื่นยกย่องชมเชยและเห็นความสำคัญของตนเองมากจนเกินไป หลายคนอาจสงสัยว่าอาการแบบไหนเข้าข่ายโรคหลงตัวเองกันบ้าง เพราะบางพฤติกรรมเหล่านี้อาจแยกได้ยาก
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลงตัวเองจะแตกต่างจากบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะหากไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษก็มักจะไม่มีความสุขหรือรู้สึกผิดหวัง โดยในระยะยาวมักส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว คู่รัก คนรอบข้าง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งตนเอง
พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวอย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น สภาพแวดล้อม พันธุกรรม ความผิดปกติทางระบบประสาท การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก เป็นต้น
โดยผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าวมักจะมีพฤติกรรมของโรครวมกัน 5 ลักษณะนิสัยหรือมากกว่านั้น ดังนี้
- ชอบที่จะเป็นจุดสนใจหรือได้รับความสนใจ คิดว่าตนเองมีความสำคัญมากและต้องการเป็นผู้ที่ถูกยกย่องชมเชยอยู่เสมอ จึงพยายามทำให้ตนเองมีความสำคัญเหนือผู้อื่น มักพูดแต่เรื่องของตนเองและกล่าวชื่นชมตนเอง
- หมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ อำนาจ ความฉลาด และความสำเร็จในจินตนาการของตนเอง
- รู้สึกว่าตนเองพิเศษกว่าผู้อื่นและเลือกที่จะมีความสัมพันธ์เฉพาะกับผู้ที่มีความคล้ายคลึงกันเท่านั้น
- ต้องการการชื่นชมเป็นอย่างมาก
- คาดหวังว่าตนเองควรได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ มากเกินความเป็นจริง
- มีนิสัยชอบการแข่งขัน ชอบเอาเปรียบและฉวยโอกาสจากผู้อื่น
- ขาดความเห็นใจ ไม่สนใจหรือไม่รับรู้ถึงอารมณ์และความต้องการของผู้อื่น
- รู้สึกอิจฉาคนอื่นและคิดว่าคนอื่นก็อิจฉาตนเองเช่นกัน
- มีท่าทีหยิ่ง อวดดี โอ้อวดในความสามารถและความสำเร็จของตนเอง
แม้บางอาการหรือพฤติกรรมอาจมีความคล้ายคลึงกับผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองสูง แต่จริง ๆ แล้วอาจสังเกตได้ว่าผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองจะทำตัวเหนือผู้อื่น โหยหาคำชมจากผู้อื่นตลอดเวลา แต่คนที่มั่นใจในตนเองสูงจะไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น แต่จะยอมรับคุณค่าในตนเอง โดยไม่ต้องการคำชมที่มากเกินจริง
ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองมักไม่รู้ตัวและไม่รู้สึกว่าตนเองมีความผิดปกติใด ๆ ส่วนมากถ้าไปพบแพทย์อาจไปด้วยอาการซึมเศร้า ปัญหาจากการใช้ยา ดื่มสุรา หรือปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ อีกทั้งหากได้รับการวินิจฉัยแล้วก็ยากต่อการยอมรับและเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ตาม หากปรากฏอาการที่เข้าข่ายพฤติกรรมของโรคหลงตัวเองในข้างต้น และอาการเหล่านั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เกิดความรู้สึกในด้านลบเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจากความต้องการ หรือมีภาวะเศร้า ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
การรักษาโรคหลงตัวเอง
เนื่องจากโรคหลงตัวเองเป็นหนึ่งในภาวะความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ การรักษาหลักมักเป็นการทำจิตบำบัดหรือการบำบัดด้วยการพูดคุย โดยจุดประสงค์ในการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีความคิดเห็นต่อตนเองและคาดหวังกับผู้อื่นในตามความเป็นจริงมากขึ้น
หากรับการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ที่มีอาการหลงตัวเองเรียนรู้ที่จะยอมรับและปรับตัวในด้านต่าง ๆ เช่น
- ยอมรับความสามารถของตนเองตามความเป็นจริงมากขึ้น
- รักษาความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
- เพิ่มศักยภาพในการรับคำวิจารณ์หรือความล้มเหลว
- รู้เท่าทันอารมณ์และสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
- เข้าใจและยอมรับผลกระทบของปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นใจในตนเอง
- เข้ากับผู้อื่นได้ดีขึ้น เกิดความสนิทสนมในความสัมพันธ์มากขึ้น
- เข้าใจถึงสาเหตุของอารมณ์และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน การไม่ไว้วางใจ และการเหยียดหยามผู้อื่น
ในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะทางที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคหลงตัวเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แพทย์อาจให้ใช้ยาต้านเศร้าหรือยาระงับอาการวิตกกังวลเพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผลจากการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ