เครื่องทำความชื้น ใช้อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

เครื่องทำความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเพิ่มระดับความชื้นในอากาศด้วยไอน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองต่าง ๆ ที่เกิดจากความแห้งของสภาพอากาศ แต่หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี เครื่องทำความชื้นอาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคหืด

โดยทั่วไป เครื่องทำความชื้นสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามลักษณะการทำงาน เช่น ชนิด Vaporizers ชนิด Evaporators หรือชนิด Ultrasonic Humidifiers แต่ด้านประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมอาจไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

เครื่องทำความชื้น ใช้อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้เครื่องทำความชื้น

ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บคอ ตาแห้ง ผิวแห้ง ปากแตก โพรงจมูกแห้ง หรือเลือดกำเดาไหล ดังนั้นการเพิ่มระดับความชื้นในอากาศด้วยเครื่องทำความชื้นจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้เองจากที่บ้าน อย่างไรก็ตาม แม้ระดับความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะอาจช่วยบรรเทาอาการในข้างต้น แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี เครื่องทำความชื้นอาจส่งผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น

  • อาการแสบร้อน เครื่องทำความชื้นชนิดไอน้ำร้อนอาจทำให้ผู้ที่ใช้งานเสี่ยงต่อการเกิดอาการแสบร้อนจากไอน้ำหรือน้ำที่กระเด็นออกจากตัวเครื่องโดยเฉพาะเด็ก หากอยู่ใกล้เครื่องทำความชื้นมากเกินไป
  • เสี่ยงต่อการเกิดสารก่อภูมิแพ้ ระดับความชื้นในอากาศที่มากเกินพอดี อาจทำให้เกิดละอองน้ำเกาะตามบริเวณต่าง ๆ ในบ้าน เช่น กำแพง หรือพื้นผิวต่าง ๆ จนกลายเป็นแหล่งให้สารก่อภูมิแพ้ อย่างเชื้อแบคทีเรีย ไรฝุ่น หรือเชื้อราเจริญเติบโต ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หรือทำให้อาการของผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือหอบหืดยิ่งแย่ลง

ใช้เครื่องทำความชื้นอย่างไรให้เหมาะสม

โดยทั่วไประดับความชื้นภายในบ้านที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 30–50 เปอร์เซ็นต์ โดยอาจวัดด้วยอุปกรณ์วัดความชื้นในอากาศอย่างไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer) ในกรณีที่พบว่าระดับความชื้นสูงเกินไป ควรลดระดับความชื้นโดยการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องลดความชื้น เนื่องจากระดับความชื้นที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้ภายในบ้านและเครื่องทำความชื้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ไรฝุ่น หรือเชื้อรา

นอกจากนี้ควรรักษาเครื่องทำความชื้นให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่อาจเป็นแหล่งสะสมและแพร่เชื้อของแบคทีเรียหรือรา อย่างถังเก็บน้ำและไส้กรอง โดยอาจทำตามวิธีดังต่อไปนี้

1. เลือกใช้น้ำกลั่นหรือน้ำบริสุทธิ์

ควรเลือกใช้น้ำที่มีแร่ธาตุน้อยหรือไม่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบ อย่างน้ำกลั่นหรือน้ำบริสุทธิ์ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยขจัดแร่ธาตุที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง เนื่องจากน้ำที่มีแร่ธาตุอย่างน้ำประปาอาจเกิดการตกตะกอน และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น มีเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตภายในเครื่อง เศษตะกอนปนออกมากับไอน้ำที่ใช้หายใจ หรือเกิดคราบสีขาวเกาะอยู่ตามอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น

และควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน โดยเช็ดหรือเป่าตัวถังให้แห้งก่อนเติมน้ำใหม่เพื่อป้องกันการเกิดคราบหรือตะกอน และที่สำคัญ ควรถอดปลั๊กก่อนเปลี่ยนน้ำทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

2. หมั่นทำความสะอาดเครื่องทำความชื้น

ควรทำความสะอาดคราบหรือตะกอนในเครื่องทำความชื้นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วยน้ำยาทำความสะอาดตามคำแนะนำในคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยหลังจากที่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาเคมีต่าง ๆ ควรล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำเปล่าซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อป้องกันสารตกค้างภายในตัวเครื่อง

3. เปลี่ยนไส้กรองเป็นประจำ

ในกรณีที่ใช้เครื่องทำความชื้นชนิดที่มีไส้กรอง ควรสังเกตและเปลี่ยนไส้กรองบ่อย ๆ หากเห็นว่าไส้กรองเริ่มสกปรก หรืออาจตรวจสอบระยะเวลาที่ควรเปลี่ยนไส้กรองแต่ละครั้งจากคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์

4. ไม่ควรใช้เครื่องทำความชื้นที่มีคราบหรือตะกอนสะสม

ควรเปลี่ยนเครื่องทำความชื้นใหม่ หากสังเกตเห็นว่าคราบหรือตะกอนสะสมภายในตัวเครื่องเริ่มทำความสะอาดยาก เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรียภายในตัวเครื่อง

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องทำความชื้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากความแห้งของสภาพอากาศ ดังนั้นหากใช้เครื่องทำความชื้นแล้วอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม