การรับบทบาทใหม่เป็นว่าที่คุณแม่คงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการตั้งท้องลูกคนแรก ขณะเดียวกันคุณแม่มักต้องเผชิญกับอาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) อย่างเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมรับมือกับอาการแพ้ท้องอย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอและไม่เครียด
อาการแพ้ท้องจะต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปจะเป็นความรู้สึกไม่สบายตัวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร พะอืดพะอม คลื่นไส้ และอาเจียน ส่วนมากคุณแม่มักจะมีอาการแพ้ท้องในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องเร็วกว่านั้นคือประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์
ทำไมถึงมีอาการแพ้ท้อง
สาเหตุของอาการแพ้ท้องยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่ามีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่รกและฮอร์โมนที่ทารกสร้างขึ้นในร่างกาย เช่น การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG)
ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้คุณแม่แพ้ท้อง เช่น ความเครียด มีภาวะความไวต่อการรับกลิ่น โรคประจำตัวอย่างไมเกรนและเมารถ การใช้ยาคุมกำเนิดก่อนตั้งครรภ์ หรือการตั้งครรภ์ลูกแฝดสองหรือแฝดสามอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการแพ้ท้องมากขึ้น
ถึงแม้อาการแพ้ท้องอาจจะเป็นอาการที่คุณแม่หลายคนไม่อยากเผชิญ แต่ทางการแพทย์เชื่อว่าอาการแพ้ท้องที่ไม่มากจนเกินไปเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ที่ดี เนื่องจากมีการพัฒนาและสร้างฮอร์โมนหลายตัว โดยเฉพาะฮอร์โมน HCG ซึ่งคาดว่ามีส่วนทำให้เกิดอาการแพ้ท้องขึ้นได้
7 วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง
คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องตกใจไป เพราะอาการแพ้ท้องสามารถดีขึ้นได้เมื่อผ่านช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณสัปดาห์ที่ 12–14 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอดได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก ในเบื้องต้นคุณแม่สามารถบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
1. รับประทานปริมาณน้อยลง แต่ถี่มากขึ้น
การปล่อยให้ท้องว่างจะยิ่งทำให้อาการแพ้ท้องแย่ลง ในแต่ละมื้อควรรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อย แต่รับประทานให้บ่อยขึ้น เพื่อปรับความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ หรืออาจรับประทานอาหารเบา ๆ ย่อยง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกายในระหว่างวัน
2. หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และรสจัด
อาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด อาหารรสจัด และมีกรดสูงอาจกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้ผิดปกติ และทำให้รู้สึกอยากอาเจียนได้ง่ายขึ้น ควรเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนและวิตามินบี 6 ที่มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการแพ้ท้อง
3. รับประทานเย็นดีกว่าร้อน
การรับประทานอาหารในอุณหภูมิห้องหรืออาหารที่เย็นจะช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้นกว่าอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ เนื่องจากกลิ่นของอาหารขณะร้อน ๆ อาจไปกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนได้ง่าย
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลให้อาการแพ้ท้องแย่ลง เช่น เวียนหัว เหนื่อยง่าย และกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนง่ายขึ้น ทางที่ดีควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หากรู้สึกเวียนหัวในตอนกลางวัน การเอนหลังและงีบหลับสักพักจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
5. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
อาการแพ้ท้องอาจแย่ลงเมื่อได้รับการกระตุ้น เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์จะไวต่อการรับกลิ่นต่าง ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชวนให้รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนได้ง่าย หรืออาจจะสร้างบรรยากาศในบ้านด้วยกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยที่ชอบ
6. สดชื่นเข้าไว้
หากิจกรรมเพลิน ๆ ที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการแพ้ท้อง เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นเกม ปลูกต้นไม้ เพื่อไม่ให้จมกับความรู้สึกที่ยิ่งสร้างความห่อเหี่ยวจากอาการไม่สบายตัวของการแพ้ท้อง
7. อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยจิบน้ำบ่อย ๆ ระหว่างวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ หรือจิบน้ำขิงอุ่น ๆ อาจลดอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้ดี หากอาเจียนจนไม่สามารถรับประทานอะไรได้ ควรหาสิ่งทดแทนที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เช่น น้ำหวาน ลูกอม ไอศกรีม น้ำผลไม้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีน
การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้รับมือกับอาการแพ้ท้องและผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ง่ายขึ้น หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง เช่น คลื่นไส้และอาเจียนบ่อยหรือรุนแรง ปวดศีรษะ มีไข้ กลัวการรับประทานอาหาร ปัสสาวะน้อยหรือมีสีเข้ม หรือน้ำหนักลดลง คุณแม่ควรไปพบแพทย์