ผดร้อนเป็นหนึ่งในปัญหาผิวหนังที่มักพบได้ในเด็กทารก แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ซึ่งแม้ผดร้อนจะไม่อันตรายและมักหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่ในระหว่างนั้นก็อาจสร้างความหงุดหงิด ความไม่สบายกายและใจได้ไม่น้อยเลย การรับมือกับผดร้อนให้ถูกวิธีจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก
อันที่จริงแล้ว ผดร้อนเกิดจากการอุดตันหรืออักเสบของต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง เหงื่อจึงไม่อาจระเหยออกไปได้ตามปกติ จนก่อให้เกิดอาการที่ผิวหนังตามมา โดยอาจเป็นผลจากต่อมเหงื่อของทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ สภาพอากาศร้อนชื้น อาการไข้ การออกกำลังหรือการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก หรือการสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง
อาการของผดร้อนในเด็กและผู้ใหญ่มักมีลักษณะคล้ายกันคือ มีตุ่มแดงหรือตุ่มพุพองขนาดเล็กกระจุกตัวอยู่ตามผิวหนัง ร่วมกับอาการระคายเคือง คัน ปวด หรือบวม โดยผดร้อนเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย แต่เด็กมักพบที่บริเวณหน้าผาก คอ หัวไหล่ หน้าอก หลัง รวมถึงรักแร้ ข้อศอก และขาหนีบ ส่วนผู้ใหญ่มักพบได้บริเวณข้อพับหรือผิวหนังจุดที่เสียดสีกับเสื้อผ้า
วิธีรับมือกับผดร้อนมีอะไรบ้าง
แม้ผดร้อนอาจหายไปได้เองในเวลาไม่นาน แต่ตุ่มแดงคันที่ผู้ป่วยต้องเผชิญนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการทำงานอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่อาจสื่อสารและดูแลตัวเองได้มากนัก ผู้ป่วยหรือพ่อแม่จึงควรเรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำในระหว่างที่เกิดผดร้อน เพราะอาจช่วยให้อาการทุเลาลงในเร็ววัน
เนื่องจากเหงื่อเป็นต้นเหตุของผดร้อน หากร่างกายมีเหงื่อออกน้อยลงและผิวหนังเย็นขึ้นอาจช่วยลดความไม่สบายตัว ซึ่งผู้ป่วยหรือพ่อแม่อาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ในการดูแลตัวเองหรือลูกน้อย
อาบน้ำเย็น
หมั่นอาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว อาจใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำเบา ๆ หรือปล่อยให้ผิวแห้งเอง เพื่อป้องกันผิวระคายเคือง โดยควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง หรือครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของน้ำมันและน้ำหอม เพราะอาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันมากขึ้น ในกรณีของเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการทาแป้งฝุ่น เพราะนอกจากจะไม่ช่วยบรรเทาอาการหรือป้องกันผดร้อนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังอุดตันอีกด้วย
ทว่าคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้แป้งเนื้อโลชั่นที่มีสูตรเฉพาะสำหรับเด็กทดแทนได้ โดยในบางยี่ห้อจะมีส่วนผสมที่ปลอดภัยจากธรรมชาติ เช่น แป้งมันสำปะหลัง (Tapioca Starch) สารสกัดจากข้าวบาร์เลย์ น้ำมันอาร์แกน เชียบัตเตอร์ น้ำมันโรสฮิป และว่านหางจระเข้
โดยมีส่วนช่วยบำรุงผิวหนัง ลดความอับชื้น อีกทั้งยังช่วยดูดซับสารก่อการอักเสบจากเหงื่ออย่าง Pro-Cytokine จึงอาจลดอาการอักเสบ ระคายเคือง แดง คันที่ผิวหนัง ทำให้รู้สึกสบายตัวยิ่งขึ้นได้
แป้งเนื้อโลชั่นยังมีข้อดีตรงที่ไม่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายแบบแป้งฝุ่น และหากปราศจากแร่ทัลคัม (Talcum) ด้วย ความเสี่ยงที่เด็กจะสูดดมหรือนำผงแป้งเข้าปาก แล้วเกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจภายหลังก็จะลดน้อยลง
เลี่ยงอากาศร้อนหรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก
พยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว และมีอากาศถ่ายเท โดยอาจเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศ หรือประคบเย็นที่ผิวหนัง เพื่อช่วยเพิ่มความเย็นให้มากขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและมีเหงื่อออกมาก
สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
สวมเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติบางเบา ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกิดการเสียดสีกับผิวหนัง อย่างผ้าฝ้ายหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ หากเกิดผดร้อนบริเวณขาหนีบ อาจงดการสวมใส่ชุดชั้นในชั่วคราวเพื่อลดการเสียดสีกับบริเวณผิวที่เป็นผดร้อน สำหรับทารก ไม่ควรสวมใส่ผ้าอ้อมตลอดเวลา โดยอาจงดใส่เป็นบางช่วง เช่น งดใส่ 2–3 ชั่วโมง เพื่อลดความอับชื้นหรือบรรเทาผดร้อนที่เกิดบริเวณผ้าอ้อม
รับประทานยาลดไข้
หากผู้ป่วยมีเหงื่อออกจากการเป็นไข้ ควรรับประทานยาลดไข้อย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน โดยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนใช้ สำหรับพ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้ลูกรับประทานยาลดไข้ชนิดใด ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย และต้องไม่ลืมดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
สำหรับผู้ป่วยที่มีผดมากหรือมีอาการรุนแรง แพทย์หรือกุมารแพทย์อาจแนะนำหรือสั่งจ่ายยาบรรเทาอาการผดร้อนและอาการคันร่วมด้วย อาทิ ยาที่มีส่วนผสมของซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) ยาแก้แพ้ หรือยาสเตียรอยด์ ซึ่งผู้ป่วยหรือพ่อแม่ที่ดูแลลูกควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่รักษาด้วยตนเองแล้วไม่ได้ผล ผดร้อนคงอยู่เกิน 2–3 วัน หรืออาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ เจ็บคอ หรือปวดกล้ามเนื้อ และผู้ที่มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น ผดเริ่มมีหนอง หรือรู้สึกอุ่นบริเวณที่เป็นผด