ผ้าอนามัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสาว ๆ ในช่วงมีประจำเดือน อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับส่วนที่บอบบางของผู้หญิงอย่างอวัยวะเพศและช่องคลอด จึงจำเป็นต้องรู้วิธีใช้ผ้าอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อสุขอนามัยที่ดี และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และการเกิดผื่นจากการแพ้ผ้าอนามัย
ผ้าอนามัยคือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับซึมซับเลือดประจำเดือน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็มีลักษณะและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป บทความนี้จะแนะนำการเลือกผ้าใช้อนามัยอย่างเหมาะสม และข้อควรรู้ในการใช้ผ้าอนามัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีต่อจุดซ่อนเร้น
ทำความรู้จักประเภทของผ้าอนามัย
ผ้าอนามัยมีอยู่หลายชนิด โดยชนิดที่คนมักนิยมใช้จะเป็นผ้าอนามัยแบบแผ่น และผ้าอนามัยแบบสอดซึ่งผ้าอนามัยทั้ง 2 ประเภทมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
ผ้าอนามัยแบบแผ่น
ผ้าอนามัยแบบแผ่นจะใช้แปะบนกางเกงชั้นในเพื่อดูดซึมประจำเดือน จึงมีวิธีการใส่และถอดที่ง่ายไม่ซับซ้อน อีกทั้งผ้าอนามัยแบบแผ่นยังมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบหนา แบบบาง แบบมีปีก หรือแบบกลางคืนที่ซึบซับได้มาก แต่ผ้าอนามัยแบบแผ่นอาจไม่เหมาะกับเสื้อผ้ารัดรูปและไม่เหมาะสำหรับใส่ในระหว่างการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก
ผ้าอนามัยแบบสอด
ผ้าอนามัยแบบสอดจะใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูดซับประจำเดือน จึงมีขั้นตอนการใส่และถอดที่ซับซ้อนกว่า ซึ่งผ้าอนามัยแบบสอดจะสามารถใส่ได้กับเสื้อผ้าทุกประเภท สามารถใส่ในระหว่างทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายมาก รวมถึงใส่ในขณะว่ายน้ำได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพบางประการที่ควรระวัง
วิธีใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกต้องและถูกสุขอนามัย
การใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกต้องจะช่วยให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผ้าอนามัยอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยควรเลือกใช้ผ้าอนามัยให้ถูกประเภท ใส่ผ้าอนามัยให้ถูกวิธี รักษาความสะอาดขณะใช้ผ้าอนามัยอยู่เสมอ เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ และควรสังเกตความปกติที่เกิดขึ้นขณะใช้ผ้าอนามัยด้วย
วิธีการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
วิธีการใส่ผ้าอนามัยและการถอดผ้าอนามัยแบบแผ่นจะมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่น
- ลอกแผ่นกาวออกแล้วติดลงไปบนกึ่งกลางของเป้ากางเกงชั้นใน
- หากเป็นรูปแบบที่มีปีก ให้ลอกแผ่นกาวส่วนปีกออกแล้วพับติดลงไปใต้เป้ากางเกงชั้นใน
- การถอดผ้าอนามัย ให้ค่อย ๆ ดึงออกจากกางเกงชั้นใน พับและห่อกระดาษให้เรียบร้อยก่อนทิ้งลงในถังขยะ และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากถอดผ้าอนามัยด้วย
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบแผ่นทุก 3–4 ชั่วโมง เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนเวลานอนหลับที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ้าอนามัยได้บ่อย ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นชนิดกลางคืนที่มีประสิทธิภาพในการซึมซับสูง
วิธีการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจะมีความซับซ้อนกว่าการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น เพราะต้องใส่เข้าไปในช่องคลอด จึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- อ่านคำแนะนำบนฉลากอย่างละเอียดก่อนใส่ เพื่อความปลอดภัยต่อจุดซ่อนเร้น และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
- ใช้ท่านั่งยอง ๆ หรือท่ายืน โดยให้ขาข้างหนึ่งวางอยู่บนที่ที่สูงกว่าขณะใส่ผ้าอนามัย เพื่อให้สามารถใส่ได้ง่ายขึ้น
- แกะผ้าอนามัยออกจากบรรจุภัณฑ์ จากนั้นใช้นิ้วมือข้างที่ไม่ถนัดแหวกเปิดแคมของอวัยวะเพศ
- ใช้นิ้วอีกข้างดันผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอด โดยให้ปลายเชือกอยู่ด้านนอก ซึ่งถ้าใส่อย่างถูกวิธีจะต้องไม่รู้สึกถึงความอึดอัดใด ๆ
- หากเป็นรูปแบบที่มีอุปกรณ์ช่วยใส่ ให้ใส่อุปกรณ์เข้าไปจนถึงจุดที่กำหนดก่อน แล้วจึงดันแกนของอุปกรณ์เพื่อดันผ้าอนามัยให้เข้าไปในช่องคลอด
- การถอดผ้าอนามัยควรใช้ท่าทางเดียวกับตอนใส่เพื่อความสะดวก จากนั้นจับปลายเชือกที่อยู่ด้านนอกช่องคลอดเพื่อดึงผ้าอนามัยออกมา ควรห่อกระดาษให้เรียบร้อยก่อนทิ้งลงในถังขยะ และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากถอดผ้าอนามัยด้วย
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก 4–6 ชั่วโมง เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรีย และไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในตอนกลางคืนขณะนอนหลับด้วย
ข้อควรระวังในการเลือกใช้ผ้าอนามัย
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อจุดซ่อนเร้น ควรศึกษาข้อควรระวังในการเลือกใช้ผ้าอนามัย ดังนี้
- ควรสังเกตวันหมดอายุก่อนการใช้ผ้าอนามัย เพราะผ้าอนามัยที่ใกล้หมดอายุจะมีประสิทธิภาพลดลง
- ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าที่ใส่และกิจกรรมที่ทำ เช่น หากต้องใส่เสื้อผ้ารัดรูปทำกิจกรรมที่ต้องโดนน้ำหรือเคลื่อนไหวร่างกายมาก โดยเฉพาะการว่ายน้ำ ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการใส่หรือการถอดผ้าอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอด
- หลังจากการใช้ผ้าอนามัย ควรห่อผ้าอนามัยให้มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เลอะเทอะ และลดความเสี่ยงในการการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- แม้ว่าประจำเดือนจะมาน้อยหรือใช้ผ้าอนามัยชนิดที่ซึมซับได้มาก แต่ก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยตามกำหนดอยู่เสมอ เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรีย
- ผ้าอนามัยแบบสอดมีความเสี่ยงในการใช้งานมากกว่าผ้าอนามัยแบบแผ่น จึงไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในขณะนอนหลับ ในขณะมีเพศสัมพันธ์ และในตอนที่ไม่มีประจำเดือน
- ผ้าอนามัยบางยี่ห้ออาจมีการใส่น้ำหอมเพื่อช่วยในการระงับกลิ่น หรือใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่ม ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้ผ้าอนามัยในบางคนได้ จึงควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผ้าอนามัย
- หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างใช้ผ้าอนามัย เช่น มีผื่นขึ้น หรือมีอาการคันอวัยวะเพศ ควรเปลี่ยนยี่ห้อของผ้าอนามัยที่ใช้
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (TSS: Toxic Shock Syndrome) เช่น มีผื่นคล้ายผิวไหม้แดด ไข้สูง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม