เคืองตา รู้จัก 9 สาเหตุและวิธีดูแลเมื่อมีอาการ

เคืองตา (Eye Irritation) เป็นอาการที่รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาหรืออยู่บริเวณรอบดวงตา ทำให้รู้สึกไม่สบายตา เจ็บตา คันตา และตาแดง อาการเคืองตาเกิดได้จากสาเหตุ เช่น ฝุ่นควันเข้าตา อาการตาแห้ง การใส่คอนแทคเลนส์หรือใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาเป็นเวลานาน โรคเกี่ยวกับดวงตา และโรคอื่น ๆ

อาการเคืองตามักไม่รุนแรงมาก และสามารถดีขึ้นได้เองภายในเวลาไม่นานหลังจากดูแลความสะอาดและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีอาการเคืองตาเรื้อรัง เคืองตาจากอาการบาดเจ็บ และมีสิ่งแปลกปลอมหรือสารเคมีรุนแรงเข้าตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

เคืองตา

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเคืองตา

เคืองตาอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งจากสภาพแวดล้อม พฤติกรรมการใช้ดวงตา ไปจนถึงโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างกัน ดังนี้

1. สภาพแวดล้อม

ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ มลภาวะจากท่อไอเสียรถ รังสียูวี (UV) และการได้รับความร้อน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เคืองตาได้ โดยเฉพาะการอยู่ในสถานที่กลางแจ้งในช่วงที่มีลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง แสบตา และน้ำตาไหล

2. ตาแห้ง

ตาแห้งคือภาวะที่ต่อมน้ำตาไม่สามารถผลิตน้ำตาในปริมาณที่เพียงพอ ทำให้ขาดน้ำตาในการหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา คนที่มีอาการตาแห้งมักรู้สึกเคืองตาและคันตาเหมือนมีบางสิ่งอยู่ในดวงตา รวมถึงอาการแสบร้อนดวงตา และมองภาพไม่ชัดด้วย การเพิ่มความชุ่มชื้นในดวงตาจะช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้

3. ตาล้า (Eyestrain)

การใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต เป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เคืองตาได้ โดยภาวะนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดอาการตาล้า ตาแห้ง เจ็บตา รวมถึงปวดศีรษะ ปวดคอ และปวดไหล่ อาการมักดีขึ้นหลังจากได้พักใช้สายตา

4. การใช้เครื่องสำอางและคอนแทคเลนส์

การใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุบริเวณดวงตา การไม่ได้ทำความสะอาดเครื่องสำอางก่อนนอน และการติดขนตาปลอม อาจทำให้เกิดอาการเคืองตา และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ตาแดง แสบตา น้ำตาไหล ตาพร่า และตาไม่สู้แสง

เช่นเดียวกับการใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การล้างคอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี การใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่พอดีกับขนาดดวงตา การใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น การใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ หรือการใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นที่ไม่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย อาจทำให้เกิดอาการเคืองตา เกิดแผลที่กระจกตา และนำไปสู่การติดเชื้อในดวงตาได้เช่นกัน  

5. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา

นอกจากการมีฝุ่นและควันจากสภาพแวดล้อมเข้าตา อาการเคืองตาอาจเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าไปในดวงตา เช่น ขนตา เศษดิน ทราย แมลง แชมพูหรือสบู่ ไปจนถึงสิ่งที่มีขนาดใหญ่ เช่น ก้อนหินหรือเศษแก้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อดวงตา เช่น แสบตา เจ็บตา น้ำตาไหล อาจทำให้เกิดการตาอักเสบ หรืออาจมีเลือดออก หากวัตถุที่เข้าตามีขนาดใหญ่และแหลมคม

6. ภูมิแพ้ขึ้นตา

ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) คือภาวะที่เยื่อบุตาขาวอักเสบ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น มลพิษ และสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ทำให้เกิดอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล คันตาอย่างรุนแรง

7. ตาแดง (Pink Eye หรือ Conjunctivitis)

ตาแดงคืออาการอักเสบที่เยื่อบุตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ทำให้ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง โดยอาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดอาการเคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และการมองเห็นเปลี่ยนไป ตาแดงพบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็ก และเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของร่วมกัน

8. ตากุ้งยิง (Styes)

ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในดวงตา ทำให้เกิดตุ่มนูนขนาดเล็กที่มีลักษณะบวมแดงคล้ายสิวหัวหนองที่ขอบเปลือกตาหรือด้านในของเปลือกตา ผู้เป็นตากุ้งยิงจะมีอาการเคืองตาและเจ็บตา โดยเฉพาะเวลากะพริบตา เปลือกตาบวมแดง และน้ำตาไหล 

9. เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) 

เปลือกตาอักเสบมักเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการเคืองตา ตาแดง แสบตา มีสะเก็ดเล็ก ๆ ที่เปลือกตา และมีขี้ตาแฉะมากโดยเฉพาะตอนเช้า

นอกจากนี้ อาการเคืองตาอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) ต้อหิน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง 

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการเคืองตา

การดูแลรักษาอาการเคืองตาจะแตกต่างกันตามสาเหตุ ซึ่งในเบื้องต้นสามารถรับมือได้เองด้วยวิธีเหล่านี้

ดูแลดวงตาในชีวิตประจำวัน

ในระหว่างวันควรดูแลดวงตาโดยการพักสายตาโดยใช้สูตร 20-20-20 ซึ่งเป็นวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อในการเพ่งมองของดวงตาสำหรับผู้ที่ใช้สายตาทำงานทั้งวัน โดยหยุดพักสายตาเป็นเวลา 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที ด้วยการมองไกลออกไป 20 ฟุต

หากรู้สึกตาแห้ง การใช้น้ำตาเทียมอาจช่วยบรรเทาอาการเคืองตาและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา เมื่ออยู่กลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันรังสียูวีทำลายดวงตา และสวมแว่นป้องกันดวงตาทุกครั้ง เมื่อทำงานกับเครื่องมือหรือเครื่องจักร

รักษาความสะอาดของดวงตา

การรักษาความสะอาดของดวงตาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อาการตาแห้งดีขึ้น ซึ่งทำได้โดย

  • ล้างมือห้สะอาด โดยเฉพาะก่อนการใส่คอนแทคเลนส์ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสดวงตาแม้จะล้างมือสะอาดแล้วก็ตาม
  • ล้างคอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางรอบดวงตาหรือใส่คอนแทคเลนส์เมื่อมีอาการเคืองตา
  • หากรู้สึกว่ามีฝุ่นผงเข้าตา ลองกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อช่วยขับเศษฝุ่นให้ออกมาเร็วขึ้น และล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางและคอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น หมั่นตรวจเช็กวันหมดอายุของเครื่องสำอาง หากหมดอายุแล้วควรเปลี่ยนชิ้นใหม่ ไม่ควรใช้ต่อ

รักษาอาการภูมิแพ้ขึ้นตา

ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการเคืองตา ทำความสะอาดบ้านและเครื่องนอนเป็นประจำ ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท โดยเฉพาะวันที่มีลมแรง และใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อกรองฝุ่นละอองต่าง ๆ ในบ้าน

นอกจากนี้ อาจใช้ยาต้านฮิสตามีน ซึ่งเป็นยาแก้แพ้และบรรเทาอาการเคืองตาที่หาซื้อได้เอง โดยปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้และผลข้างเคียงจากยา เนื่องจากยาแก้แพ้บางกลุ่มอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม

หากอาการเคืองตาไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากอาการเคืองจากบางสาเหตุจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่เคืองตาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจได้รับยาปฏิชีวนะหยอดตาหรือยารับประทาน ผู้ที่เคืองตาจากอาการภูมิแพ้รุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยารับประทาน หรือให้วัคซีนภูมิแพ้กรณีที่มีอาการเรื้อรัง

สัญญาณอาการเคืองตาที่ควรไปพบแพทย์

หากอาการเคืองตาไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเอง หรือมีอาการเคืองตาแม้จะนำสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตาออกจากดวงตาแล้ว ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ หากเกิดความผิดปกติต่อการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน เห็นแสงหรือเงากระจายเป็นรัศมีรอบ ๆ ดวงไฟ มีเลือดออกในตา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

ผู้ที่มีอาการเคืองตาจากอาการบาดเจ็บ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบไปพบแพทย์ ดังนี้

  • หากมีวัตถุกระแทกดวงตา เช่น ลูกบอลกระแทกดวงตาขณะเล่นกีฬา หรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หน้ากระแทกพื้น และรถชน ให้ประคบเย็นบรรเทาอาการปวดและบวม หากมีอาการปวดรุนแรงและการมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น ตามืดหรือมัวลงไปมาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากของแหลมคมทิ่มตามีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น กิ่งไม้ หรือเศษแก้ว ไม่ควรพยายามนำวัตถุนั้นออกจากตาด้วยตนเอง ควรปิดตาห้ามเลือด แล้วรีบไปพบแพทย์ 
  • หากสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก และรีบไปพบแพทย์

เคืองตาเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจไม่รุนแรงและหายได้เองในเวลาไม่นาน แต่บางสาเหตุอาจทำให้เกิดอาการเคืองตาเรื้อรัง ซึ่งอาการอาจไม่ดีขึ้นด้วยการดูแลตัวเอง หรือพบความผิดปกติอื่นเกี่ยวกับดวงตา หากมีอาการเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อดวงตาในระยะยาว