การเจาะสะดือเป็นแฟชั่นที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น เพราะอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านความสวยความงามและเป็นความชอบส่วนบุคคล โดยผู้ที่ต้องการเจาะสะดือควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เลือกเข้ารับบริการกับร้านที่ได้มาตรฐาน และหมั่นทำความสะอาดแผลหลังเจาะสะดือด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและการอักเสบ
ข้อคำนึงก่อนเจาะสะดือ
ผู้ที่ต้องการเจาะสะดือต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีและความเสี่ยงของการเจาะสะดืออย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ รวมถึงต้องเลือกใช้บริการกับร้านที่สะอาดปลอดภัย น่าเชื่อถือ และได้มาตรฐาน นอกจากนั้น ควรคำนึงถึงความพร้อมของร่างกาย และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรขออนุญาตหรือปรึกษาผู้ปกครองก่อน
- ตรวจสอบกฎระเบียบของโรงเรียนและบริษัท เพราะบางโรงเรียนหรือบางหน่วยงานอาจไม่อนุญาตให้คนในองค์กรเจาะสะดือ
- ตรวจสอบว่าตัวเองได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีและบาดทะยัก
- ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดคีลอยด์หรือเคยมีแผลเป็นคีลอยด์ รวมถึงผู้ป่วยโรคหรือความผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน ภาวะภูมิต้านทานต่ำ หรือภาวะมีเลือดออก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเจาะสะดือ
การดูแลแผลหลังเจาะสะดือ
หากแผลจากการเจาะสะดือไม่สะอาด อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดการอักเสบตามมาได้ ผู้ที่เจาะสะดือจึงควรล้างทำความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวัน โดยวิธีทำความสะอาดแผลที่ถูกต้อง มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสแผล และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสแผลเจาะสะดือ
- ทำความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวัน โดยล้างเอาสิ่งสกปรกบริเวณแผลออกด้วยน้ำอุ่นก่อน จากนั้นจึงทำความสะอาดแผลและตุ้มสะดือด้วยสบู่เหลวที่ปราศจากน้ำหอม แล้วใช้น้ำสะอาดล้างคราบสบู่และสิ่งตกค้างออกอีกครั้ง
- ซับแผลให้แห้งด้วยกระดาษชำระที่สะอาด แต่ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัวซับแผล เพราะผ้าเช็ดตัวที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอาจมีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่
วิธีป้องกันแผลเจาะสะดือติดเชื้อ
- ไม่แคะหรือแกะแผล เพราะอาจทำให้เลือดออกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ไม่ใช้แอลกอฮอล์ สบู่ก้อน และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือตัวยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride) เพื่อล้างฆ่าเชื้อที่แผล เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำให้แผลหายช้าลง
- ไม่ฉีดน้ำหอมหรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบริเวณแผล
- ไม่ลงแช่น้ำร้อนหรือว่ายน้ำจนกว่าแผลจะหายดี
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังออกกำลังกาย เพราะเหงื่ออาจทำให้แผลเกิดการระคายเคือง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและโปร่งสบาย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใส่เข็มขัดและเสื้อผ้าแบบพอดีตัว เพราะอาจทำให้แผลหายช้าลง และเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการเผชิญความเครียด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสมานแผลของร่างกาย
สัญญาณอาการที่ควรระวัง
แผลจากการเจาะสะดือมักบวมแดงและมีน้ำไหลออกมาจากแผลในระยะแรก เมื่อน้ำแห้งผู้ที่เจาะสะดืออาจสังเกตเห็นเกล็ดแข็งอยู่รอบแผล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้และอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เจาะสะดือบางรายอาจมีอาการแพ้ตุ้มเจาะสะดือ หรือแผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้มีอาการ ดังนี้
- อาการแพ้ ผู้ที่เจาะสะดือแต่ละรายอาจมีอาการแพ้วัสดุต่างชนิดกันไป แต่ส่วนใหญ่มักแพ้ตุ้มเจาะสะดือที่ทำจากนิกเกิล โดยมีอาการ เช่น รู้สึกคันและมีผื่นแดง กดบริเวณแผลแล้วรู้สึกเจ็บ หรือรูจากการเจาะมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น
- แผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการ เช่น แผลบวมแดง รู้สึกปวด เกล็ดแข็งรอบแผลมีกลิ่นเหม็นและมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง เขียว เทา หรือน้ำตาล มีไข้ หนาวสั่น อาเจียน และรู้สึกไม่สบายท้อง เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทายาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหรือรับประทานยาปฏิชีวนะ
ความเสี่ยงของการเจาะสะดือ
นอกจากอาการแพ้ตุ้มเจาะสะดือหรือแผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่เจาะสะดือบางรายอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
- ติดเชื้อในกระแสเลือด การใช้เครื่องมือเจาะสะดือที่ไม่สะอาดอาจเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และบาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อตามที่แพทย์กำหนด
- คีลอยด์ แผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและอาจมีขนาดขยายใหญ่กว่าแผลที่เกิดขึ้น ซึ่งมักทำให้รู้สึกคันและเจ็บเมื่อกดลงไปบริเวณที่เป็นคีลอยด์