ปวดท้องข้างขวา คืออาการปวดท้องที่เกิดบริเวณท้องฝั่งด้านขวา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอวัยวะที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต ตับอ่อน ถุงน้ำดี ลำไส้ ไปจนถึงไส้ติ่ง การปวดท้องหรือเจ็บท้องบริเวณนี้จึงสามารถเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติได้หลายชนิด โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ไส้ติ่งอักเสบ ไตติดเชื้อ
อาการปวดท้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยในบางครั้งอาการนี้อาจไม่รุนแรงและดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณถึงโรคหรือภาวะผิดปกติที่ควรได้รับดูแลจากแพทย์ได้เช่นกัน ผู้ที่มีอาการปวดท้อง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องข้างขวาหรือบริเวณใด ๆ ก็ตาม จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและสังเกตตนเองเสมอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ
รู้จักสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการปวดท้องข้างขวา
เนื่องจากบริเวณท้องด้านขวามีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน อาการปวดท้องข้างขวา หรือเจ็บท้องข้างขวาจึงอาจเกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายได้หลายประการ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป เช่น
1. นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)
นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมักพบอาการปวดท้องข้างขวาส่วนบน และนอกจากอาการนี้แล้ว ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดียังอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลังบริเวณระหว่างสะบัก และปวดบริเวณไหล่ด้านขวา
ผู้ที่เห็นว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากรู้สึกว่าอาการเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อพบอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดท้องรุนแรง มีไข้สูง หนาวสั่น และผิวหนังหรือดวงตามีสีออกเหลือง
2. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
อาการปวดท้องข้างขวาล่างอาจเป็นสัญญาณของภาวะไส้ติ่งอักเสบได้ โดยอาการของภาวะนี้มักเริ่มจากอาการปวดท้องส่วนบน หรือบริเวณใกล้ ๆ สะดือก่อน จากนั้นอาการปวดจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นบริเวณท้องข้างขวาส่วนล่าง ซึ่งจะยิ่งรุนแรงขึ้นขณะขยับตัวและหายใจ รวมถึงมักเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ท้องบวม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- เบื่ออาหาร
- มีไข้
ภาวะไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะอันตรายที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที เนื่องจากหากไส้ติ่งแตก ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
3. ภาวะตับอักเสบ (Hepatitis)
ผู้ป่วยภาวะตับอักเสบมักพบอาการปวดท้องข้างขวา หรือเจ็บท้องข้างขวาร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ และดวงตาหรือผิวหนังมีสีออกเหลือง
ภาวะนี้เป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากแพทย์ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการที่เข้าข่ายลักษณะข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
4. ภาวะไตติดเชื้อ
ภาวะไตติดเชื้อมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องข้างขวา นอกจากนั้น ยังอาจพบอาการอื่นด้วย เช่น ปวดหลังส่วนล่าง อาการปวดขาหนีบ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือปัสสาวะมีเลือดปน
ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัด เนื่องจากภาวะไตติดเชื้ออาจส่งผลให้ไตเกิดความเสียหายอย่างถาวร รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
5. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการปวดท้องข้างขวา หรือเจ็บท้องข้างขวาแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย
ผู้ที่มีอาการในลักษณะเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน หรืออาการกลับมาเกิดซ้ำ ๆ แต่หากเริ่มเกิดอาการที่มีความรุนแรง เช่น มีเลือดไหลจากทวารหนัก น้ำหนักลดผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการปวดท้องไม่ดีขึ้นแม้จะอุจจาระไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้
6. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
ภาวะตับอ่อนอักเสบนอกจากจะทำให้มีอาการปวดท้องข้างขวาแล้ว ก็อาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น อาการปวดท้องที่ลุกลามไปยังบริเวณหลัง หัวใจเต้นถี่ มีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งผู้ป่วยควรไปรับการตรวจที่เหมาะสมหากพบอาการที่เข้าข่าย โดยเฉพาะในกรณีที่อาการปวดท้องรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
7. ไส้เลื่อน (Hernia)
อาการเด่น ๆ ของผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนคือ ตุ่มหรือก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาอย่างเห็นได้ชัดขณะอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่ง เช่น ขณะไอ หรือยกของหนัก โดยอาจมีอาการปวดร่วมด้วย และจะหุบกลับเข้าไปเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง
ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีภาวะนี้อยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยเฉพาะหากพบว่าบริเวณก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาเกิดอาการชา มีสีเปลี่ยนไป หรือพบว่ามีไข้ คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
8. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
โดยผู้ป่วยในกลุ่มโรคถุงผนังลำไส้อักเสบจะมักพบอาการปวดท้องข้างขวา หรือในบางกรณีอาจเป็นข้างซ้าย ร่วมกับอาการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือบางคนอาจมีอาการท้องเสีย ซึ่งผู้ที่มีอาการเข้าข่ายในลักษณะนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม
ทั้งนี้ โรคที่ได้ยกตัวอย่างไปในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่มักพบได้ของอาการปวดท้องข้างขวาเท่านั้น ซึ่งยังมีโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นอีกหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะท้องนอกมดลูกของผู้หญิง
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดท้องข้างขวา หรือเจ็บท้องข้างขวาที่เห็นว่าอาการเริ่มมีความผิดปกติ เช่น อาการไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน หรืออาการเริ่มแย่ลง ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเกิดตามมาได้