เชื้อราเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้มากมาย แม้เชื้อราส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ก็อาจก่อให้เกิดอาการที่สร้างความรำคาญใจหรือทำให้เกิดความไม่มั่นใจได้ไม่น้อย การดูแลตนเองและรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อราอย่างถูกวิธีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เชื้อราคืออะไร
เชื้อรา คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยอาจทำให้เกิดอาการบริเวณผิวหนังชั้นนอกหรือลึกลงไปในเนื้อเยื่อชั้นใน ตลอดจนระบบเลือด ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ ซึ่งในบางกรณีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีหรือผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
เชื้อราก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง
เชื้อราแต่ละชนิดสามารถก่อโรคได้แตกต่างกันไป โดยโรคจากเชื้อราที่มักพบได้ มีดังนี้
โรคกลาก
กลากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผื่นขึ้นบนผิวหนังลักษณะเป็นดวง ๆ พบได้ทุกส่วนบนร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า เล็บ ขาหนีบ เป็นต้น
โรคติดเชื้อราแคนดิดา
โรคติดเชื้อราแคนดิดาเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดา มักพบได้ในช่องปาก คอ และช่องคลอด เชื้อราชนิดนี้ยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่ไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย
โรคติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส
มักพบได้ในผู้ป่วยโรคปอดหรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ การติดเชื้อที่ปอด และการติดเชื้อที่อวัยวะอื่น ๆ ได้
โรคฮีสโตพลาสโมสิส
เกิดจากเชื้อราที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยเชื้อดังกล่าวมักอยู่ในมูลของสัตว์ปีก เช่น นก หรือค้างคาว เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการไอ เป็นไข้ และรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งจะหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจมีอาการรุนแรงได้
โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ
เป็นการติดเชื้อราร้ายแรงบริเวณปอด พบได้ในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
โรคสปอโรทริโคสิส
มีสาเหตุมาจากเชื้อราสปอโรคทริคที่พบได้ในดินและพืช โดยมักเกิดการติดเชื้อเมื่อบาดแผลบนผิวหนังไปสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อรา
โรคคริปโตค็อกโคสิส
เกิดจากการติดเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ มักพบในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวี
โรคติดเชื้อราที่ดวงตา
เป็นการติดเชื้อที่พบได้น้อย มักเกิดขึ้นหลังจากมีอาการบาดเจ็บที่ดวงตา และอาจทำให้กระจกตาอักเสบหรือเกิดการติดเชื้อในลูกตาได้
โรคมิวคอร์ไมโคซิส
เกิดจากเชื้อรากลุ่มมิวคอร์ไมโคซิส เมื่อสูดดมสปอร์ของเชื้อรานี้เข้าไป มักก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณโพรงจมูก ไซนัส หรือปอด หรืออาจเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังหากสัมผัสกับเชื้อบริเวณที่มีแผล ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ก็เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้น้อย
ติดเชื้อรา รักษาอย่างไร
อาการจากการติดเชื้อรารักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีฤทธิ์ในการกำจัดหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยตัวยามี 4 รูปแบบให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หรือเภสัชกร และความต้องการของผู้ใช้ ดังนี้
- ยาต้านเชื้อราชนิดยาใช้ภายนอก ตัวยาอยู่ในรูปแบบครีม เจล ยาป้าย หรือสเปรย์
- ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน ตัวยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ
- ยาต้านเชื้อราชนิดฉีดเข้าร่างกาย เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ยาต้านเชื้อราชนิดยาสอด ตัวยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ดชนิดนิ่ม ใช้สอดเข้าไปทางช่องคลอด มักใช้รักษาการติดเชื้อราบริเวณช่องคลอด
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเสมอ อ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้ง และไม่ควรใช้ยาในปริมาณเกินกว่าที่กำหนด เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
ป้องกันการติดเชื้อราได้อย่างไร ?
การติดเชื้อราป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ซึ่งทำได้ดังนี้
- รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังออกกำลังกาย เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อับชื้น ดังนั้น หลังจากออกกำลังกายทุกครั้งควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและนำไปซักทำความสะอาดเสมอ รวมทั้งเช็ดอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ใช้ให้แห้งด้วย
- ไม่ใส่ชุดชั้นในซ้ำ ควรเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวันเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อราที่เกิดจากความอับชื้น รวมทั้งรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและคอยเช็ดให้แห้งเสมอ มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่อวัยวะเพศหรือที่เรียกว่าโรคสังคังได้
- เปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและหมั่นทำความสะอาดรองเท้า เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อราจนนำไปสู่การติดเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้า ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน รวมถึงนำรองเท้าไปซักและตากแดดอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่ชื้น เพราะพื้นที่เปียกชื้น โดยเฉพาะในที่สาธารณะอย่างพื้นห้องน้ำรวมในโรงยิมหรือพื้นบริเวณตู้ล็อกเกอร์นั้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา จึงควรสวมใส่รองเท้าแตะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้า
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น การใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หวี หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมกันอาจเป็นการส่งต่อเชื้อราไปสู่ผู้อื่นได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อรามากกว่าคนทั่วไป ควรระมัดระวังการติดเชื้อรามากเป็นพิเศษ และปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงด้านนี้ด้วย เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ที่กำลังใช้ยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาเคมีบำบัด เป็นต้น