ขาดสารอาหารเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ ซึ่งอาจพบในเด็กและผู้สูงอายุที่ร่างกายต้องการสารอาหารบางอย่างมากกว่าช่วงวัยอื่น ผู้มีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถรับประทานและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ปกติ ผู้ที่ประสบปัญหาความยากจน และผู้ที่อดอาหารแบบผิดวิธีจนทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เสริมสร้างการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และมีส่วนช่วยป้องกันโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มาดูกันว่าหากเรามีอาการขาดสารอาหารจะสังเกตได้จากอะไรบ้าง และมีวิธีดูแลรักษาอย่างไร
การขาดสารอาหารชนิดที่เกิดขึ้นบ่อย และอาการที่ควรสังเกต
ผู้ที่ขาดสารอาหารมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและไขมัน ผิว ผมและเล็บแห้ง ตัวเย็น กระสับกระส่าย และเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งสารอาหารที่คนมักจะได้รับไม่เพียงพอ เช่น
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ธาตุเหล็กพบได้ในเนื้อวัว เครื่องในสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม ผักปวยเล้ง บรอกโคลี่ ถั่วแดง เมล็ดฟักทอง งา และอาหารเช้าซีเรียลที่มีการเติมธาตุเหล็กเพิ่มเติม
เด็กก่อนวัยเรียน ผู้ที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ และผู้รับประทานมังสวิรัติมีแนวโน้มขาดธาตุเหล็กได้ง่ายกว่าคนในกลุ่มอื่น ๆ การขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลีย หัวใจเต้นแรง หายใจหอบเหนื่อย มือเท้าเย็น ผิวซีด เล็บเปราะ รู้สึกเจ็บและบวมที่ลิ้น ลิ้นเลี่ยน เป็นต้น
แคลเซียม
แคลเซียมจะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ เส้นประสาท และหลอดเลือด รวมทั้งช่วยในการผลิตฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกาย แคลเซียมพบในนมและผลิตภัณฑ์นมอย่างชีสและโยเกิร์ต ปลาซาร์ดีน ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย เต้าหู้เหลือง ผักคะน้า ผักกระเฉด ตำลึง และผักเคล
การขาดแคลเซียมพบได้ทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็ก ผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกบาง
วิตามินบี 12
วิตามินบี 12 ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงและ DNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมในเซลล์ของร่างกาย และช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 มักมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด มือเท้าชา ไม่สามารถทรงตัวได้ และความจำแย่ลง
การขาดสารอาหารอย่างวิตามินบี 12 มักพบในผู้ที่การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินบี 12 เองได้ ซึ่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 มักจะพบในเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม
ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และผู้มีโรคประจำตัว เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ โรคโครห์น (Crohn’s Disease) และโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เช่นกัน
วิตามินดี
วิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยในการทำงานของกระดูก ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ และมะเร็ง การขาดวิตามินดีอาจทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ผู้ที่ขาดวิตามินดีอาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ผมร่วง แผลหายช้า และเจ็บป่วยบ่อย
คนที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เช่น ผู้ที่ทำงานกะกลางคืนหรือในอาคาร ซึ่งไม่ค่อยได้สัมผัสแสงแดด ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคอ้วน และผู้มีโรคประจำตัว เช่น ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง (Hyperparathyroidism) โรคตับ โรคไต หรือมีความผิดปกติที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินดีได้
การป้องกันการขาดวิตามินดีอาจทำได้โดยการโดนแสงแดด เพราะร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ปลาที่มีไขมันสูงอย่างแซลมอนและทูน่า ไข่แดง ตับ นมและอาหารอื่น ๆ ที่ผ่านการเติมวิตามินดี
โปรตีน
โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ผิวหนัง และผม และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การขาดโปรตีนอาจทำให้เด็กเติบโตช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ในผู้ใหญ่อาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ผมบาง ผมร่วง ผิวแห้งลอก เล็บเปราะ บาดแผลหายช้า เจ็บป่วยบ่อย แขน ขา และหน้าท้องบวม หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการขาดโปรตีนอาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อแม่และทารก
การขาดสารอาหารอย่างโปรตีนมักพบในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ นักกีฬาที่ฝึกซ้อมหนัก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) โรคเอดส์ (AIDs) โรคมะเร็ง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัวไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ และถั่วชนิดต่าง ๆ จะช่วยป้องกันอาการขาดโปรตีนได้
คาร์โบไฮเดรต
การขาดคาร์โบไฮเดรตมักพบในผู้ที่ลดน้ำหนักและงดการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอาจทำให้ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก หากได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายนำพลังงานจากไขมันในร่างกายมาใช้เป็นพลังงานหลัก ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
นอกจากนี้ การขาดสารอาหารอาจเกิดจากการที่ร่างกายขาดสารอื่น ๆ เช่น
- ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการทำงานของระบบไทรอยด์และการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ การขาดไอโอดีนอาจทำให้เกิดโรคคอพอก และความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก
- วิตามินเอมีส่วนช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ และป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย หากขาดวิตามินเออาจทำให้เกิดโรคตาบอดกลางคืน ตาแห้ง ผิวแห้งและคัน และทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า
ขาดสารอาหารรักษาอย่างไร
การรักษาภาวะขาดสารอาหารจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสารอาหารที่ขาด ความรุนแรงของอาการ และโรคแฝงที่พบร่วมด้วย ในเบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เช่น มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุในปริมาณที่เหมาะสม และรับประทานอาหารเสริมเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด หรือผู้มีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้ และยาที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รวมทั้งรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของภาวะขาดสารอาหารควบคู่กันไป ในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับอาหารทางสายยาง หรือให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำโดยตรง
โดยทั่วไป การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายและครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยป้องกันการขาดสารอาหารได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารหรือมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นอาการขาดสารอาหาร ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและตรวจรักษาต่อไป