เด็กทารกอายุ 2 เดือนจะเป็นช่วงที่มีพัฒนาการภายในร่างกายอย่างหลากหลาย ทั้งการเจริญเติบโต กล้ามเนื้อ ดวงตา และส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเด็กในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการบางอย่างที่เพิ่มจากช่วงเดือนแรก แต่การที่เด็กยังไม่สามารถพูดได้อาจเป็นอุปสรรคหนึ่งในการสื่อสาร ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กห่างไกลจากโรคร้ายและมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
การเจริญเติบโตของเด็กทารกอายุ 2 เดือน
เด็กทารกวัยนี้จะใช้เวลาไปกับการนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพัฒนาการในแต่ละด้านก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกล้ามเนื้อในร่างกายจะแข็งแรงขึ้นและเริ่มใช้งานได้ดีขึ้น รวมถึงมีการเจริญเติบโตในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงอาจแบ่งพัฒนาการของเด็กทารกวัย 2 เดือนออกเป็นแต่ละด้าน ดังนี้
- การเจริญเติบโตทางร่างกาย เด็กทารกวัย 2 เดือนอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดือนแรกประมาณ 0.7-0.9 กิโลกรัม และมีความยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3.8 เซนติเมตร ซึ่งเด็กทารกเพศชายในวัยนี้อาจมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5.6 กิโลกรัม และมีความยาวลำตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณ 58 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5.1 กิโลกรัม และมีความยาวลำตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณ 57 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม เด็กทารกที่มีสุขภาพดีบางคนอาจมีน้ำหนักหรือความยาวไม่ตรงกับเกณฑ์ดังกล่าว เพราะการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วย
- การใช้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อคอของเด็กจะแข็งแรงขึ้น โดยเด็กจะเริ่มยกคอในขณะนอนคว่ำ และควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้ดีขึ้นเมื่อประคองตัวเด็กไว้ในท่านั่ง โดยเด็กในวัยนี้จะแบมือพอ ๆ กับกำมือ อีกทั้งยังชอบดูดนิ้วมือหรือกำปั้นของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ เด็กอาจยืดกล้ามเนื้อและใช้กล้ามเนื้อเพื่อการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเด็กอาจจับของเล่นที่นำไปวางไว้บนมือข้างหนึ่งได้ และอาจยืดขาหรือเตะขาได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น
- การกิน สำหรับนมแม่ ควรให้เด็กดื่มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หากเป็นนมผง อาจให้เด็กดื่มนมจากขวดครั้งละประมาณ 120-150 มิลลิลิตร หรือ 4-5 ออนซ์ ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนมหากเด็กกำลังหลับอยู่ เพราะเด็กมักจะส่งสัญญาณบอกเองเมื่อหิวนม นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำหรือกินอาหารอย่างอื่น เพราะอาจเป็นอันตรายได้ เว้นแต่เป็นคำแนะนำของแพทย์
- การนอน การนอนของเด็กวัยนี้โดยทั่วไปยังคงคล้ายคลึงกับเด็กทารกวัย 1 เดือน โดยอาจนอนวันละประมาณ 15.5 ชั่วโมง ซึ่งแบ่งเป็นนอนตอนกลางคืนประมาณ 8.5 ชั่วโมง และนอนตอนกลางวันอีกประมาณ 7 ชั่วโมงที่แบ่งเป็นนอนช่วงสั้น ๆ ประมาณ 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การนอนหลับอาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน และควรให้เด็กนอนหงายเท่านั้น โดยนำหมอน ผ้าห่ม และสิ่งของอื่น ๆ ออกจากเปลเด็ก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารก (SIDS)
- การมองเห็น เด็กอายุ 2 เดือนอาจมองวัตถุและคนได้ในระยะไกลถึงประมาณ 45 เซนติเมตร และมองเห็นได้กว้างถึง 180 องศา โดยเด็กอาจมองตามการเคลื่อนไหวเมื่อมีคนเดินเข้ามาใกล้ อีกทั้งยังชอบมองรูปแบบที่มีความซับซ้อนมากกว่าวัตถุหรือสีเรียบ ๆ อย่างสีขาวดำ ซึ่งแตกต่างจากเด็กทารกอายุ 1 เดือน
- การสื่อสาร เด็กวัยนี้ยังคงร้องไห้เป็นการสื่อสารหลัก แต่อาจเริ่มทำเสียงในลำคอได้บ้างแล้ว และเด็กอาจแสดงอารมณ์ได้มากขึ้น โดยอาจยิ้มเมื่อรู้สึกชอบหรือพอใจ
เทคนิคต่าง ๆ ในการดูแลเด็กทารก
เทคนิคบางอย่างอาจช่วยให้พ่อแม่ดูแลเด็กทารกอายุ 2 เดือนได้ดีขึ้น ดังนี้
การสัมผัสและพูดคุย
ผู้ปกครองควรสัมผัสใกล้ชิดกับเด็ก อาจลองนวดตัวเด็กคล้าย ๆ กันกับเด็กทารกวัย 1 เดือน นอกจากนี้ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกน้อยด้วย เพราะเด็กอาจตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน และอาจช่วยกระตุ้นให้เด็กฝึกออกเสียงได้ในภายหลัง
การกล่อมเด็ก
เมื่อเด็กร้องไห้ อาจเดาได้ยากว่าเด็กต้องการอะไร ดังนั้น ให้ลองใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อปลอบเด็ก เช่น ให้เด็กดื่มนม ใช้จุกหลอก ร้องเพลงกล่อม เปิดเสียงธรรมชาติอย่างเสียงในป่าดิบชื้น หรือเสียงริมชายหาดให้เด็กฟัง เป็นต้น
การให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย
เด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นด้านกล้ามเนื้อ การมองเห็น การฟัง และการสื่อสาร จึงไม่ควรให้เด็กนอน นั่งในเปล หรือนั่งบนเบาะสำหรับเด็กนานเกินไป แต่ควรให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเพื่อขยับร่างกาย คลาน กลิ้งตัว และให้เด็กได้ฝึกกล้ามเนื้อคอและแขนจากการนอนคว่ำภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและทักษะด้านต่าง ๆ ของตัวเด็กเอง
การขอคำปรึกษา
พ่อแม่ควรพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากอินเตอร์เน็ตให้ดี ไม่ควรเชื่อในทันที เพราะอาจเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือเป็นข้อมูลเท็จได้ โดยหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาการ ของใช้ หรือยาต่าง ๆ ให้ดูจากเว็บไซต์ที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ หรือสอบถามแพทย์และเภสัชกร เพราะจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และยังสามารถซักถามข้อสงสัยได้อีกด้วย
การดูแลสุขภาพเด็ก
ให้พาเด็กทารกอายุ 2 เดือนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจสุขภาพและรับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด ส่วนแม่ที่ให้นมบุตร ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับตนและอาจส่งผลไปถึงทารกได้
ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทารก
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับเด็กทารก ผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นได้ยาก เพราะด้วยขนาดตัวที่เล็กและการสื่อสารที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกน้อย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยอาจมีความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยนี้ เช่น
- น้ำลายไหล ร้องไห้ ไม่ยอมดื่มนม
- ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่ดูดนิ้วหรือเล่นมือตนเอง
- แขนหรือขาขยับไม่สัมพันธ์กัน หรือขยับข้างเดียว
ทั้งนี้ พ่อแม่ของเด็กควรใส่ใจดูแลเด็กทารก หากเด็กมีปัญหาสุขภาพแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม เด็กมีสิ่งที่เคยทำได้แล้วแต่กลับทำอีกไม่ได้ หรือเด็กมีอาการอ่อนแรงของลำตัวซีกใดซีกหนึ่ง ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์