เด็กทารกอายุ 8 เดือนมักมีพัฒนาการและทักษะด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะพัฒนาการทางร่างกาย เพราะเป็นช่วงอายุที่เด็กส่วนใหญ่สามารถทรงตัวได้ดีขึ้นและเริ่มฝึกยืนด้วยตัวเอง นอกจากนั้น พัฒนาการทางอารมณ์ ทักษะการใช้ประสาทสัมผัส ทักษะทางการสื่อสารและการเข้าสังคมก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน พ่อแม่จึงควรเข้าใจพัฒนาการและทักษะของเจ้าตัวน้อยในวัยนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมีประสิทธิภาพ
พัฒนาการทางร่างกาย
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของเด็กทารกวัยนี้ คือ มีน้ำหนักตัวและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น โดยเด็กแต่ละรายอาจมีการเจริญเติบโตทางร่างกายแตกต่างกัน พ่อแม่จึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกกังวลหากลูกน้อยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี และมีน้ำหนักหรือส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในทางการแพทย์
นอกจากนี้ ทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเด็กทารกอายุ 8 เดือนอาจสามารถลุกขึ้นนั่งได้ด้วยตัวเอง ใช้มือและเข่าทรงตัวเพื่อคลาน เริ่มฝึกยืนโดยใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่อย่างโซฟา ตู้ หรือโต๊ะในการพยุงตัวเองขึ้นมา รวมถึงยังสามารถใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรเลือกของเล่นที่มีขนาดใหญ่มากพอ เพื่อป้องกันเด็กทารกกลืนของเล่นหรือนำของเล่นเข้าปากและจมูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
อย่างไรก็ตาม เด็กทารกบางรายอาจเริ่มคลานช้า ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นปกติและไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ทว่าหากเด็กมีอายุ 1 ปีแล้วยังไม่เริ่มคลาน หรือลักษณะการคลานผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
พัฒนาการด้านการใช้ประสาทสัมผัส
เด็กทารกที่มีอายุ 8 เดือน จะมีทักษะในการใช้ประสาทสัมผัสดีขึ้น โดยเฉพาะการสัมผัสและการมองเห็น ดังนี้
- มองเห็นได้ในระยะไกลขึ้น และสามารถแยกความลึกความตื้นของภาพที่เห็นได้ดีขึ้น
- แยกแยะความแตกต่างของรูปร่างหรือพื้นผิวของสิ่งต่าง ๆ ได้
พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กทารกอายุ 8 เดือนสามารถแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น และเริ่มเรียนรู้การตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้อื่น พ่อแม่อาจสังเกตเห็นได้ว่าเจ้าตัวน้อยจะปรบมือเมื่อรู้สึกตื่นเต้นดีใจ หรือโบกมือเพื่อกล่าวอำลา
นอกจากนั้น เด็กอาจแสดงพฤติกรรมติดพ่อแม่ โดยแสดงออกถึงความรู้สึกกลัวหรือความวิตกกังวลเมื่อแยกจากคนใกล้ชิด ดังนั้น ก่อนปล่อยทารกไว้กับบุคคลอื่น พ่อแม่อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้เวลาอยู่กับลูกสักพักจนพวกเขาเริ่มคุ้นเคยกับพี่เลี้ยงเด็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
- แสดงท่าทีให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าพวกเขาต้องแยกกับพ่อแม่สักพัก เช่น การหอม การโบกมือ เป็นต้น
- บอกลูกว่าพ่อแม่จะไปไหน และพูดย้ำกับลูกให้พวกเขามั่นใจว่าพ่อแม่จะกลับมาหา
พัฒนาการทางภาษาและการเข้าสังคม
เด็กวัยนี้มักสนใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของกับการกระทำต่าง ๆ หรือผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเองได้ เช่น ลูกน้อยจะรับรู้ว่าถึงเวลานอนเมื่อตัวเองอยู่ในเปล หรือเรียนรู้ว่าหากตัวเองทำของตกแล้วพ่อแม่จะเก็บให้ เป็นต้น
นอกจากนั้น เด็กทารกยังมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น โดยเข้าใจคำศัพท์หรือประโยคง่าย ๆ ได้ เช่น นม ลาก่อน หรือสวัสดี เป็นต้น รวมถึงสามารถออกเสียงคำต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย
วิธีดูแลเด็กทารกอายุ 8 เดือน
สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการดูแลเด็กทารกอายุ 8 เดือน ซึ่งเป็นวัยเริ่มคลานและกำลังฝึกยืน ได้แก่
- ทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ และเก็บของที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย เช่น เครื่องสำอาง สายไฟ หรือสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ เป็นต้น โดยควรเก็บให้มิดชิด รวมถึงใช้ฝาครอบปิดรูปลั๊กไฟให้เรียบร้อย
- ปิดประตูห้องต่าง ๆ ให้สนิท และติดประตูกั้นบันไดเพื่อป้องกันลูกน้อยปีน เพราะอาจเสี่ยงต่อการตกลงมาบาดเจ็บ
- ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ติดต่อกันเเป็นเวลานาน โดยเน้นสร้างความบันเทิงให้ลูกผ่านการอ่านนิทาน ฟังเพลง ร้องเพลง หรือการพูดคุย เพราะการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้อย่างมาก