เด็กปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากการรับประทานอาหารที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องผูก หรือบางครั้งอาจเกิดจากความเครียดเมื่อเด็กไม่อยากทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาการปวดท้องของเด็กมักหายดีหลังได้รับการดูแลจากผู้ปกครองภายในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม เด็กที่ปวดท้องบ่อยหรือรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของโรคที่ควรได้รับการรักษา
โดยส่วนมากอาการปวดท้องในเด็กมักเกิดบริเวณหน้าท้อง อาการปวดท้องอาจเกิดขึ้นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสาเหตุ บางครั้งเด็กอาจมีอาการในเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป หรืออาจปวดท้องเป็นเวลานานและแย่ลงเรื่อย ๆ หรือมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ และบรรเทาอาการปวดท้องให้เด็กในเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาเด็กไปพบแพทย์
8 สาเหตุที่ทำให้เด็กปวดท้อง
เด็กปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้สาเหตุที่แน่ชัด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถอธิบายอาการปวดท้องให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ ซึ่งอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องในเด็ก มีดังนี้
1. ท้องอืด
เด็กปวดท้องมักเกิดจากความรู้สึกแน่นท้องและไม่สบายท้องจากอาการท้องอืด ซึ่งในทารกมักเกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปในท้องมากหลังการป้อนอาหารหรือการร้องไห้ ในเด็กโตอาจเกิดจากการกินอาหารที่ย่อยยาก ร่างกายไม่ย่อยแลคโตสในนมวัว และอาการท้องผูก
อาการท้องอืดมักทำให้เด็กปวดท้องหรือรู้สึกแสบร้อนที่ท้องส่วนบน คือบริเวณกลางกระดูกหน้าอกจนถึงสะดือ ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวดท้องจากท้องอืดมักไม่รุนแรงและหายได้เองเมื่อเด็กเรอหรือผายลม
2. ท้องผูก
ท้องผูกเป็นสาเหตุของเด็กปวดท้องที่พบบ่อย เด็กจะขับถ่ายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง รู้สึกอึดอัดและแน่นท้อง เนื่องจากถ่ายไม่ออก อุจจาระมีลักษณะแข็งและแห้ง ทำให้รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย และอาจมีเลือดปนในอุจจาระ ท้องผูกมักเกิดจากการดื่มน้ำน้อย กินอาหารที่มีกากใยน้อย หรือเด็กกลั้นอุจจาระ เนื่องจากกลัวการขับถ่าย การปรับพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กขับถ่ายได้ดีขึ้น
3. อาการแพ้หรือไม่ย่อยอาหารบางชนิด
เด็กปวดท้องอาจเกิดจากภาวะผิดปกติทางระบบย่อยอาหารจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้ (Food Intolerance) เช่น แลคโตสในนมวัว และกลูเตนในข้าวสาลี ทำให้เด็กปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย และคลื่นไส้
เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้อาหารบางประเภท เช่น นม ถั่ว ไข่ และอาหารทะเล เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ตอบสนองต่ออาหารผิดปกติ ทำให้ปล่อยสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เด็กอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ใบหน้าและปากบวม มีผื่นขึ้นตามตัว และหากรุนแรงอาจหายใจลำบาก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว และหมดสติ
4. ความเครียดและกังวล
เมื่อเกิดความเครียดหรือกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่กระตุ้นให้เด็กปวดท้องและไม่สบายท้อง ซึ่งพบได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต แต่จะพบบ่อยในเด็กวัยเรียนที่ไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีปัญหากับเพื่อนและพี่น้อง
อาการปวดท้องในเด็กที่เกิดจากความเครียดมักเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นอยู่กับการเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กรู้สึกเครียดและกังวล โดยอาจกินเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
5. การติดเชื้อ
การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตในร่างกายที่อาจทำให้เด็กปวดท้อง เช่น
- โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) เกิดจากการกินอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้ลูกปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) พบบ่อยในเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 1–5 ปี เด็กจะรู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยกว่าปกติ ปัสสาวะเล็ด และปัสสาวะมีเลือดปน
- ไข้ไทฟอยด์ มักเกิดจากการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หรือใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อ ทำให้ลูกปวดท้อง มีไข้ ปวดหัว ไอ อ่อนเพลีย และท้องเสีย
- การติดเชื้ออื่น ๆ ในร่างกาย เช่น โรคคออักเสบ (Strep Throat) ปอดบวม (Pneumonia) การติดเชื้อในหู และอาการไอ ซึ่งอาจทำให้เด็กปวดท้องได้
6. ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
ลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ทำให้เด็กปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสียสลับท้องผูก ความถี่ในการขับถ่ายและลักษณะอุจจาระผิดปกติ สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากอาหารที่เด็กกิน ความเครียด พันธุกรรม และปัจจัยอื่น ๆ
7. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ไส้ติ่งอักเสบมักพบในเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากการอุดตันของเศษอุจจาระหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ภายในไส้ติ่ง บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เด็กปวดท้องบริเวณสะดืออย่างเฉียบพลันและย้ายไปปวดท้องด้านล่างขวา อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อเด็กไอและขยับตัว นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และมีไข้ด้วย
ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากเด็กมีอาการไส้ติ่งอักเสบควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจทำให้ไส้ติ่งแตกและเป็นอันตรายได้
8. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)
กรดไหลย้อนเกิดจากการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร กรดไหลย้อนพบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ไปจนถึงเด็กโต สาเหตุของกรดไหลย้อนในเด็กเล็กเกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายของเด็กไม่แข็งแรงเท่าช่วงวัยอื่น ทำให้เกิดการไหลย้อนของอาหารขึ้นมาในหลอดอาหาร ส่วนเด็กโตอาจเกิดจากการกินอาหาร เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ผลไม้รสเปรี้ยว และช็อกโกแลต
กรดไหลย้อนทำให้เด็กปวดท้อง แน่นท้อง เรอบ่อย และคลื่นไส้ ทารกและเด็กเล็กอาจมีอาการสำลักหรืออาเจียนหลังดื่มนม ร้องงอแง ทำให้กินอาหารได้น้อยลง ไอ หายใจลำบากหรือมีเสียงหวีด
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว เด็กปวดท้องอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น กินอาหารรสเผ็ดจัด มีไขมันมาก อาหารหมดอายุหรือเน่าเสีย ส่วนในเด็กผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอาจมีอาการปวดท้องจากการมีประจำเดือน
การดูแลเบื้องต้นเมื่อเด็กปวดท้อง
เมื่อเด็กปวดท้อง ผู้ปกครองควรดูแลอาการของเด็กในเบื้องต้น ดังนี้
- ให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ งดให้เด็กออกไปวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬาหนักจนกว่าจะหายดี
- ให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยอาจเป็นน้ำสะอาดต้มสุกหรือน้ำผลไม้ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากการอาเจียนหรือท้องเสีย
- ไม่ควรบังคับให้เด็กกินอาหารหากเด็กไม่อยากอาหาร และหลีกเลี่ยงให้เด็กกินอาหารย่อยยาก ควรให้เด็กกินอาหารอ่อนที่รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป ขนมปังปิ้ง และกล้วยหอม
- ให้เด็กอาบน้ำอุ่น หรือใช้ถุงน้ำร้อนประคบบริเวณท้องของเด็ก จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องในเด็กได้
- ให้เด็กกินอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี และช่วยป้องกันอาการปวดท้องในเด็ก โพรไบโอติกพบในอาหารรสเปรี้ยวที่ผ่านการหมักดอง เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และขนมปังเปรี้ยว (Sourdough Bread)
- ให้เด็กกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ตามปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมกับช่วงอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนให้เด็กกินยา และควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
เด็กปวดท้องและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการเด็กปวดท้องไม่ดีขึ้น รุนแรงจนไม่สามารถขยับตัวได้ หรือปวดในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์
- หนาวสั่น มีไข้สูง
- อาเจียนหรืออุจจาระมีเลือดปน
- เซื่องซึม อ่อนเพลีย
- ไม่ยอมดื่มน้ำหรือกินอาหาร
- คลื่นไส้ และอาเจียนไม่หยุด
- ตัวซีดเหลือง เหงื่อออกมาก
- ท้องบวม กดแล้วรู้สึกเจ็บ
- มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อย น้ำตาน้อย และตาโหล
- มีผื่นขึ้นตามตัวและรู้สึกเจ็บ
เด็กปวดท้องเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่รุนแรง หากผู้ปกครองดูแลอาการเมื่อลูกปวดท้องอย่างเหมาะสมจะทำให้อาการปวดท้องหายได้เองภายในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันหรือมีอาการเรื้อรัง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป