เด็กไอเป็นอาการที่เกิดได้กับเด็กในทุกช่วงวัย อาการไอมีหลายรูปแบบ เช่น ไอแบบเสียงก้อง ไอแบบมีเสียงหวีด หรือไอกรน ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่ของเด็กไอเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด การรู้จักสาเหตุและลักษณะของการไอแต่ละแบบจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยและบรรเทาอาการไอในเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม
อาการไอเป็นกลไกที่ร่างกายกำลังพยายามกำจัดสิ่งที่กีดขวางระบบทางเดินหายใจออกไป เช่น น้ำมูก เสมหะ และวัตถุแปลกปลอมต่าง ๆ โดยทั่วไปอาการไอมักไม่ทำให้เกิดอันตราย ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และมักหายไปได้เอง แต่หากมีอาการไอเรื้อรังนานเกินกว่า 2 สัปดาห์โดยไม่ได้เป็นหวัด หรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เด็กไอ
สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เด็กไอ มีดังนี้
- การติดเชื้อ การเจ็บป่วยจากติดเชื้อเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคครูป
- การได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างควันบุหรี่และควันไฟ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอได้เช่นกัน
- การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคไอกรน
ลักษณะของเด็กไอ 7 แบบที่พ่อแม่ควรรู้
หากทำความเข้าใจการไอแต่ละแบบ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือและดูแลลูกน้อยได้ดีขึ้นก่อนจะพาเด็กไปพบแพทย์ ซึ่งอาจพบอาการไอในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1. ไอเสียงก้อง
เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนมีอาการบวม ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคครูปหรือภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก เมื่อมีอาการบวมเกิดขึ้นจึงอาจส่งผลให้เด็กหายใจลำบาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีที่มีทางเดินหายใจแคบจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคครูปสูง
2. ไอแบบมีเสียงหวีด
หากทางเดินหายใจส่วนล่างตีบตันหรือปอดอักเสบ อาจส่งผลให้ลูกน้อยไอแบบมีเสียงหวีดขณะหายใจออกได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดและโรคหลอดลมอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
นอกจากนี้ อาการไอแบบมีเสียงหวีดก็อาจเกิดจากการมีวัตถุแปลกปลอมอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนล่างได้เช่นกัน ดังนั้น หากพบว่าเด็กไอแบบมีเสียงหวีดหลังจากสูดดมอาหารหรือของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เข้าไป ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
3. ไอเรื้อรัง
ไข้หวัดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสอาจทำให้เกิดอาการไออย่างเรื้อรังนานหลายสัปดาห์ได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดบ่อย ๆ
นอกจากนี้ โรคหืด โรคภูมิแพ้ รวมถึงการติดเชื้อในโพรงจมูกและทางเดินหายใจก็อาจส่งผลให้เกิดอาการไออย่างเรื้อรังได้เช่นกัน โดยผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์หากพบว่าลูกน้อยไอติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์
4. ไอกรน
เด็กที่มีอาการไอกรนจะไอติดต่อกันโดยไม่ได้หายใจเป็นพัก ๆ เมื่อการไอสิ้นสุดลงจะมีอาการหายใจเข้าที่ทำให้มีเสียงดังวู้ป และอาจมีอาการอื่น ๆ อย่างน้ำมูกไหล จาม หรือมีไข้ต่ำร่วมด้วย โดยไอกรนเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส
ไอกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่อาการจะรุนแรงมากในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามที่กำหนด
5. ไอตอนกลางคืน
อาการไออาจรุนแรงขึ้นได้ในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัด เพราะน้ำมูกและเสมหะจากจมูกและโพรงจมูกอาจไหลลงสู่ช่องคอ เป็นเหตุให้เกิดอาการไอขณะนอนหลับได้ โดยโรคหืดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอในตอนกลางคืนได้เช่นกัน เนื่องจากทางเดินหายใจจะไวต่อสิ่งกระตุ้นในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าช่วงกลางวัน
6. ไอขณะมีไข้
ไข้หวัดที่ไม่รุนแรงก็อาจทำให้เด็กไอได้ แต่หากเด็กไอขณะมีไข้สูงกว่า 39 องศาอาจมีสาเหตุมาจากภาวะปอดบวม โดยเฉพาะเด็กที่มีร่างกายอ่อนแอและมีอาการหายใจหอบแบบเร็วมาก ซึ่งพ่อแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
7. ไอและอาเจียน
การไออย่างหนักอาจไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้นและคอหอย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการอาเจียนได้ นอกจากนี้ การไอจากโรคไข้หวัดหรือโรคหืดที่รุนแรงขึ้นก็อาจทำให้อาเจียนได้หากน้ำมูกและเสมหะไหลลงสู่ช่องท้องในปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้
อย่างไรก็ตาม การไอจนอาเจียนนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณที่อันตราย แต่หากลูกน้อยอาเจียนไม่หยุดก็ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
สัญญาณอาการเด็กไอที่ควรไปพบแพทย์
คุณพ่อคุณแม่สามารถบรรเทาอาการไอของลูกได้หลายวิธีด้วยกันตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้เครื่องทำความชื้นภายในห้องในตอนกลางคืน เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ หรืออาจให้ลูกนั่งอยู่ในห้องน้ำที่เปิดน้ำอุ่นประมาณ 2-3 นาที
- หากลูกมีอายุมากกว่า 1 ปี ให้เด็กรับประทานน้ำผึ้งปริมาณ 1 ช้อนชาเพื่อบรรเทาอาการ
- ใช้สารเมนทอลทาบริเวณหน้าอกของลูกน้อย เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวกขึ้น โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกโดยเฉพาะ
- หากเด็กโตมีอาการไอแห้งหรือไอไม่มีเสมหะอาจให้รับประทานยากดอาการไอ อย่างยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้อาการไอลดน้อยลง แต่ไม่ควรใช้รักษาอาการไอที่มีสาเหตุมาจากปัญหาในระบบทางเดินหายใจระยะยาวอย่างโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ และไม่ควรใช้ยารักษาไอแห้งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี
- ในกรณีที่เด็กมีเสมหะร่วมด้วยอาจเลือกใช้ยาละลายเสมหะที่ออกฤทธิ์ต่อกระบวนการสร้างเสมหะโดยตรง ทำให้เสมหะเหนียวข้นน้อยลง เด็กจึงไอและขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แต่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรรับประทานยานี้
- ไม่ใช้ยารักษาโรคไข้หวัดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียวข้นและเป็นอันตรายต่อเด็กได้
- ไม่ใช้ยาแอสไพรินรักษาเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะเจ็บป่วยทางสมองที่ร้ายแรง
สัญญาณอาการเด็กไอที่ควรไปพบแพทย์
หากพบว่าลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน
- เด็กมีอายุต่ำกว่า 4 เดือน
- ไอแบบแห้ง ๆ โดยมีสาเหตุมาจากไข้หวัดติดต่อกันนานกว่า 5-7 วัน
- ไอและมีไข้สูง
- ไอเป็นเลือด
- ป่วยและอ่อนล้าอย่างมาก
- มีวัตถุแปลกปลอมติดอยู่ในช่องคอ
- รู้สึกเจ็บหน้าอกเมื่อสูดหายใจเข้าลึก ๆ
- หายใจมีเสียงหวีด และหายใจหรือพูดลำบาก
- น้ำลายไหลหรือกลืนอาหารลำบาก
นอกจากนี้ หากพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือขอความช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินทันที
- เด็กร้องคราง
- มีอาการสำลักและอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
- ริมฝีปาก นิ้วมือ หรือตัวเขียว
- หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีดอย่างรวดเร็ว หายใจแบบดูเหนื่อย ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องในการหายใจ หรือหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
- หมดสติ หรือไม่หายใจ