เตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าคลอด

ผ่าคลอด (Cesarean Section, C-Section) เป็นการผ่าตัดที่ใช้ในการทำคลอด โดยการเปิดปากแผลบริเวณหน้าท้องและมดลูก บางกรณีการผ่าคลอดมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ก็มีหลายกรณีที่จำเป็นต้องผ่าคลอดอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจคาดไม่ถึง

การผ่าคลอดมักเป็นตัวเลือกท้าย ๆ หากคุณแม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ ซึ่งการผ่าคลอดมีขั้นตอนการเตรียมตัว การผ่าตัด และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่คุณแม่ควรทราบ โดยพบแพทย์ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่คุณแม่ควรรู้ก่อนผ่าคลอดเอาไว้ในบทความนี้แล้ว

ผ่าคลอด

รูปแบบของการผ่าคลอด

การผ่าคลอดจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามวิธีการผ่าคลอด ได้แก่

  • การผ่าคลอดแบบผ่าขวางที่มดลูกส่วนล่าง (Low Tansverse Incisions) คือการผ่าคลอดโดยการกรีดแผลเป็นรอยขวางที่หน้าท้องส่วนล่างบริเวณมดลูก เป็นวิธีผ่าคลอดที่แพทย์ใช้บ่อยที่สุด
  • การผ่าคลอดแบบธรรมดา (Classical Incisions) เป็นวิธีการผ่าคลอดที่ใช้ในกรณีที่ต้องคลอดอย่างเร่งด่วนหรือเป็นการคลอดก่อนกำหนด โดยจะผ่าที่บริเวณหน้าท้องเป็นแนวตั้ง
  • การผ่าคลอดแบบผ่าแนวตั้งที่มดลูกส่วนล่าง (Low Vertical Incisions) คือการผ่าคลอดในลักษณะแผลแนวตั้งที่บริเวณมดลูกส่วนล่าง มักใช้ในกรณีที่ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติขณะคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์ใช้น้อยที่สุด

กรณีไหนที่ต้องผ่าคลอด

การผ่าคลอดนั้นจะถูกใช้ในกรณีที่การคลอดแบบธรรมชาติอาจไม่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และเด็ก เช่น

เคยได้รับการผ่าคลอดมาก่อน 

โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อคุณแม่เคยผ่านการผ่าคลอดมาแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดเช่นกัน

ตั้งครรภ์แฝด 

ในบางกรณีที่มารดามีการตั้งครรภ์แฝด แต่ลักษณะการกลับตัวของทารกไม่พร้อมสำหรับการคลอด หรือร่างกายมารดาไม่พร้อมสำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ ก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดแทน

พบปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อมารดา

คุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอาจจำเป็นต้องใช้การผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของผู้เป็นแม่และเด็ก เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ และเริมที่อวัยวะเพศกำเริบในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูกจนอาจเป็นอันตรายต่อทารก

ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้

การผ่าคลอดจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเป็นอันตรายหากคุณแม่ไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้จากหลายปัจจัย เช่น ปากมดลูกเปิดไม่สุด การคลอดเป็นไปได้ช้า รวมถึงกรณีต่อไปนี้ 

  • ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารก (Cephalopelvic Disproportion: CPD) โดยส่วนใหญ่มักพบเมื่อขนาดศีรษะของทารกมีขนาดใหญ่กว่ากระดูกเชิงกรานของคุณแม่ จึงต้องใช้การผ่าคลอด
  • ภาวะรกต่ำ (Placenta Previa) เกิดขึ้นเมื่อรกเลื่อนลงไปอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือปกคลุมอยู่บริเวณปากมดลูก หากมีภาวะรกต่ำอาจจำเป็นต้องนอนพักบนเตียงเพื่อดูอาการ และเมื่อถึงกำหนดคลอดก็อาจต้องใช้การผ่าคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) เป็นภาวะที่รกแยกตัวออกจากเยื่อบุมดลูกก่อนกำหนด ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดเลือดออกและปวดที่บริเวณมดลูก อีกทั้งยังทำให้ทารกไม่ได้รับออกซิเจนจึงทำให้ต้องทำการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตเด็ก
  • มดลูกแตก (Uterine Rupture) คือภาวะที่มดลูกแตกหรือปริออก ทำให้ผนังมดลูกที่เป็นกำแพงปกป้องทารกไม่ให้สัมผัสสิ่งอื่น ๆ ในท้องคุณแม่ฉีกขาด ร่างกายบางส่วนของทารกจึงอาจหลุดจากมดลูกเข้าไปอยู่ในช่องท้อง คุณแม่อาจเกิดการตกเลือด และทารกอาจขาดอากาศหายใจ จึงต้องได้รับการผ่าคลอดโดยด่วน
  • ทารกอยู่ในท่าก้นออก (Breech Position) เป็นท่าที่ผิดปกติในการคลอด เพราะการคลอดโดยธรรมชาติ ทารกจะต้องเอาศีรษะลง การผ่าคลอดจึงเป็นวิธีเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม การคลอดแบบธรรมชาติก็สามารถทำได้ ยกเว้นทารกอยู่ในภาวะเครียด และภาวะสายสะดือย้อย (Cord Prolapse) 
  • ภาวะความเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal Distress) ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ทารกขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ การผ่าคลอดจะช่วยให้เด็กปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการผ่าคลอดได้แก่ คุณแม่ที่มีภาวะสุขภาพที่เป็นอันตราย หรือร่างกายไม่พร้อมในการผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด

การผ่าคลอดส่วนใหญ่จะมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า หากคุณแม่ทราบกำหนดการผ่าคลอดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เกี่ยวกับปัจจัยด้านสุขภาพ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ และแพทย์มักให้คุณแม่ตรวจเลือดก่อนผ่าตัด เพื่อดูระดับฮีโมโกลบินและกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์จัดเตรียมเลือดสำรองไว้ในกรณีที่ต้องให้เลือดในระหว่างการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง

หากคุณแม่วางแผนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ การเตรียมตัวสำหรับการผ่าคลอดในกรณีที่อาจคาดไม่ถึงก็สำคัญเช่นกัน คุณแม่ควรพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่าคลอดก่อนจะถึงกำหนดคลอด เนื่องจากในกรณีฉุกเฉินแพทย์อาจไม่สามารถอธิบายและให้คำตอบเกี่ยวกับรายละเอียดได้

นอกจากนี้ คุณแม่ควรหาคนคอยช่วยดูแลเด็กทารกในช่วงที่คุณแม่พักฟื้นร่างกายหลังผ่าคลอดจนกว่าจะหายดี การดูแลทารกด้วยตนเองอาจทำให้คุณแม่ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และทำให้แผลหายช้าหรือติดเชื้อได้ และเมื่อถึงกำหนดการผ่าคลอด คุณแม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้

การเตรียมตัวที่บ้าน

เมื่อถึงกำหนดในการผ่าคลอด แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่อาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อมาก่อนทำการผ่าคลอด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และห้ามโกนขนอวัยวะเพศ เพราะจะทำให้ความเสี่ยงจากการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องกำจัดขนเหล่านั้นออก แพทย์จะทำการตัดในระหว่างก่อนผ่าตัดเอง

การเตรียมตัวที่โรงพยาบาล 

ก่อนเข้าทำการผ่าคลอด คุณแม่จะต้องได้รับการทำความสะอาดบริเวณท้อง และใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อสวนปัสสาวะที่ตกค้างอยู่ ซึ่งแพทย์จะค้างสายสวนปัสสาวะเอาไว้จนผ่าคลอดเสร็จและจะนำออกหลังจากผ่าคลอดประมาณ 1 วัน นอกจากนี้ จะมีการเจาะแขนเพื่อใส่สายน้ำเกลือสำหรับการให้เลือดหรือยา และคุณแม่อาจต้องใช้ยาลดกรดเพื่อลดอาการปวดท้องในระหว่างผ่าตัด

วิธีการผ่าคลอด

กระบวนการผ่าคลอดนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคลอด โดยวิธีการผ่าคลอดจะเริ่มจากการให้ยาชา ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ยาชาประเภทยาชาบริเวณกระดูกรอบ ๆ กระดูกสันหลัง หรือที่เรียกว่าการบล็อคหลัง ซึ่งจะทำให้คุณแม่ยังรู้สึกตัวขณะทำการผ่าคลอด และรู้สึกชาเฉพาะบริเวณส่วนล่างของร่างกาย แต่หากเป็นในกรณีฉุกเฉินอาจจำเป็นต้องใช้ยาสลบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวขณะที่ทำคลอด

เมื่อยาชาหรือยาสลบออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มทำการกรีดเปิดปากแผลที่บริเวณผนังหน้าท้องทีละชั้น ผ่านเนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อเข้าสู่ช่องท้อง ซึ่งขนาดของแผลผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากเปิดแผลใหญ่ก็จะทำให้เด็กออกมาได้ง่ายขึ้น จากนั้นแพทย์จะกรีดเปิดมดลูก โดยจะพิจารณาจากท่าทางของทารกในครรภ์ และภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะรกต่ำ ซึ่งอาจขัดขวางมดลูก 

แพทย์จะค่อย ๆ นำทารกออกมาจากมดลูกและทำความสะอาด นำเอาของเหลวในปากและจมูกของเด็กออก ตัดสายสะดือ และเมื่อเด็กปลอดภัยแล้วก็จะทำการเย็บปิดแผลทีละชั้นในขั้นตอนต่อไป ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ไหมละลายในการเย็บปิดแผล โดยรวมแล้ว ระยะเวลาการผ่าคลอดโดยทั่วไปจะกินเวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และเด็กจะถูกนำออกมากจากครรภ์ในช่วง 5–15 นาทีแรก 

การดูแลรักษาตัวหลังการผ่าคลอด

แม่และเด็กจะต้องพักฟื้นร่างกายในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2–3 วันหลังการผ่าคลอด โดยแพทย์อาจให้ยาแก้ปวดกับคุณแม่หลังจากยาชาหรือยาสลบเริ่มหมดฤทธิ์ แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำและพยายามลุกขึ้นเดิน เพราะจะช่วยให้แผลผ่าตัดสมานตัวได้เร็วขึ้น ลดอาการท้องผูก และลิ่มเลือดอุดตันที่อาจเป็นอันตราย รวมทั้งแพทย์นำสายสวนปัสสาวะออก และคอยเฝ้าระวังการติดเชื้อของแผลผ่าตัด

ทั้งนี้ คุณแม่สามารถให้นมบุตรได้ทันทีที่คุณแม่รู้สึกดีขึ้น โดยปรึกษาพยาบาลเกี่ยวกับท่าทางในการให้นมบุตรที่สะดวกสบายต่อทั้งแม่และเด็ก กรณีที่ต้องใช้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ แพทย์จะให้ยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้นมบุตร

นอกจากนี้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพก่อนออกจากโรงพยาบาล เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันการเกิดโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในแม่และเด็ก

ในขณะที่พักฟื้นที่บ้าน คุณแม่ควรดูแลรักษาตัวเองดังนี้

  • ดูแลความสะอาดแผลผ่าคลอด เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ และหลังจากที่แผลสมานแล้ว คุณแม่อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดรอยแผลเป็นที่ให้ความชุ่มชื้นที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ ซึ่งเกิดจากการที่ผิวหนังสร้างคอลลาเจนมาซ่อมแซมบาดแผลมากผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
  • พักผ่อนให้มาก ๆ และวางของใช้ที่จำเป็นสำหรับแม่และเด็กไว้ใกล้มือ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงการยกของด้วยท่าย่อตัว หรือยกของที่น้ำหนักมากกว่าทารก
  • ใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้องขณะให้นม หรือใช้ผ้าพันบริเวณหน้าท้อง
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียของเหลวจากการคลอดและการให้นมบุตร อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกอีกด้วย
  • ใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งยาแก้ปวดส่วนใหญ่จะปลอดภัยกับผู้หญิงที่ให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแพทย์จะอนุญาต โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการขับรถอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เนื่องจากแผลผ่าคลอดจะอยู่บริเวณเข็ดขัดนิรภัย หากมีการเบรครถอย่างกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่แผลซ้ำได้

อย่างไรก็ตาม ควรรีบติดต่อแพทย์โดยเร็วที่สุด หากคุณแม่มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการบวมแดง และมีของเหลวไหลออกมาจากแผลผ่าตัด

รวมไปถึงมีอาการปวด บวมแดงที่หน้าอก ร่วมกับมีไข้ มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากช่องคลอด รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ มีเลือดออกจนเต็มผ้าอนามัยภายในเวลา 1 ชั่วโมงหรือมีเลือดออกต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์หลังจากผ่าคลอด

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

การผ่าคลอดยังอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งแม่และเด็กได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในคุณแม่มีดังนี้

  • การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้กับบริเวณที่ผ่าตัด ภายในมดลูก หรืออวัยวะอื่น ๆ ในกระดูกเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ
  • อาการตกเลือด การผ่าคลอดจะทำให้สูญเสียเลือดมากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ จนทำให้เกิดภาวะเลือดจางหรืออาจต้องได้รับการให้เลือด
  • การบาดเจ็บที่อวัยวะ การผ่าคลอดอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่อวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น ลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • พังผืดภายในช่องท้อง เนื้อเยื่อที่สร้างตัวขึ้นในการสมานแผลภายในช่องท้องอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันและอาการปวดได้ นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ภาวะรกต่ำ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้
  • อยู่ในโรงพยาบาลนานกว่ากำหนด โดยปกติแล้วจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3–5 วันหลังการผ่าคลอด แต่อาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานกว่านั้นหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
  • ใช้เวลาพักฟื้นนานหากมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยอาจกินเวลาไปถึง 6 เดือนได้ เพราะหากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ การพักฟื้นจะกินเวลาไม่กี่สัปดาห์ไปจนถึงเพียงไม่กี่เดือน 
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง คุณแม่บางคนอาจมีความรู้สึกที่ไม่ดีเกี่ยวกับการคลอด หรืออาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
  • การเกิดรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการสมานแผลอาจสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาซ่อมแซมบริเวณแผลผ่าคลอดมากเกินไป 
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาสลบที่ใช้ในการผ่าคลอด หรือยาแก้ปวด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหลังการผ่าคลอด
  • การผ่าตัดเพิ่มเติมหลังจากการผ่าคลอด เช่น การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ และการผ่าคลอดสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต
  • การเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตของแม่จากการผ่าคลอดอยู่ในระดับที่สูงกว่าการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากต้องมีการสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับเด็กทารก เช่น

  • การคลอดก่อนกำหนด หากการวิเคราะห์จากน้ำคร่ำผิดพลาดอาจทำให้ทารกคลอดออกมาเร็วเกินไปและมีน้ำหนักตัวน้อย
  • ปัญหาการหายใจ ทารกมีแนวโน้มที่จะมีการหายใจหรือการทำงานของระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติจากการผ่าคลอดได้
  • มีคะแนนประเมินสภาพทารก (APGAR) ที่ต่ำ โดยอาจเกิดจากการใช้ยาสลบ ทำให้ทารกเกิดภาวะเครียดก่อนคลอด หรือเกิดการตอบสนองที่น้อยในขณะที่คลอดได้
  • ทารกเกิดการบาดเจ็บ การผ่าคลอดอาจทำให้เด็กเกิดแผลจากการผ่าตัดได้ แต่เป็นกรณีที่เกิดได้น้อยมาก

แม้การผ่าคลอดในปัจจุบันจะมีความปลอดภัยสูง แต่หากไม่มีความจำเป็นด้านสุขภาพ แพทย์มักแนะนำให้คุณแม่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ คุณแม่ที่ต้องการผ่าคลอดควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความจำเป็น ขั้นตอน และการเตรียมตัวในการผ่าคลอดให้ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าคลอด