DEXA Scan (Dual-Energy X-ray Absorptiometry: DEXA) เป็นเครื่องวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้รังสีเอกซ์ที่มีพลังงานต่างกัน 2 ระดับพลังงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ซึ่งการตรวจด้วยเครื่อง DEXA จะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ใช้เวลารวดเร็วและแม่นยำกว่ารังสีเอกซ์ทั่วไป
การตรวจด้วย DEXA Scan จะแบ่งออกเป็นสองชนิด ได้แก่ การตรวจบริเวณกระดูกแกนกลางร่างกาย คือ กระดูกสันหลังส่วนล่างและสะโพก และการตรวจบริเวณกระดูกแขนและขา เช่น ข้อมือ นิ้วมือ เท้า ส้นเท้า เป็นต้น ซึ่งในการประเมินความเสี่ยงภาวะโรคกระดูกพรุน แพทย์มักใช้เครื่องตรวจบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และข้อมือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่พบกระดูกหักได้บ่อย
ใครบ้างที่ควรทำ DEXA
โดยทั่วไป กลุ่มคนที่แพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจ DEXA เป็นประจำคือ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเข้ารับการตรวจ DEXA ด้วยในบางกรณี โดยอาจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอายุน้อยเกณฑ์หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
- มีประวัติเคยกระดูกหักหรือกระดูกเปราะ กระดูกหักง่ายกว่าปกติมาก่อน
- ผู้หญิงที่มีภาวะขาดประจำเดือนนานกว่า 1 ปีขึ้นไป
- มีน้ำหนักตัวน้อยหรือค่าดัชนีมวลกายต่ำ (Body Mass Index: MBI)
- ส่วนสูงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน
- เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งเต้านม
- มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อมวลกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ฮอร์โมนไม่สมดุล โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ เป็นต้น
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาไทรอยด์ฮอร์โมนในปริมาณสูง เป็นต้น
คำแนะนำก่อนการทำ DEXA
เนื่องจาก DEXA Scan ไม่ค่อยมีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ ทำให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมจึงมีไม่มากนัก เช่น งดรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียมภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกสบาย งดใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรือเครื่องประดับที่มีส่วนประกอบของโลหะในระหว่างการตรวจ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากกำลังตั้งครรภ์ สงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ เคยได้รับสารทึบรังสีหรือกลืนแป้งแบเรียมที่ใช้ในการตรวจ CT Scan ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ เพราะอาจจำเป็นต้องเลื่อนการตรวจ DEXA ออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือกังวลเรื่องความเสี่ยงก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน
ขั้นตอนและการแปรผลตรวจ DEXA
ในการตรวจ DEXA ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ บนเตียงของเครื่องสแกน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดตำแหน่งร่างกายให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ที่ถูกต้องหลังจากสแกนกระดูกในจุดที่ต้องการแล้ว
การสแกนปกติจะใช้ระยะเวลาเพียง 10-20 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหลังสิ้นสุดกระบวนการ หลังจากนั้นถึงค่อยมาฟังผลในภายหลัง โดยแพทย์จะนำค่า BMD ของผู้ป่วยไปเปรียบเทียบกับค่า BMD ของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวนหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกเรียกว่า ค่า T-score แล้วนำมาเทียบตามเกณฑ์ดังนี้
- ค่า T-score ตั้งแต่ -1.0 ขึ้นไป แสดงถึงความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ในระดับปกติ
- ค่า T-score ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 แสดงถึง ความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ในระดับต่ำหรือเป็นภาวะกระดูกบาง
- ค่า T-score ที่ต่ำกว่า -2.5 ลงไป แสดงถึงเป็นโรคกระดูกพรุน
ทั้งนี้ ค่า T-score เป็นเพียงวิธีที่ช่วยบอกความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนเท่านั้น ไม่สามารถบ่งชี้ถึงการแตกหักของกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกเหนือจากค่าวัดชนิดนี้ แพทย์บางคนอาจพิจารณาด้วยค่า Z-score ซึ่งจะเปรียบเทียบค่า BMD ของผู้ป่วยกับค่า BMD ของผู้อื่นที่มีอายุใกล้เคียงกันแทน
ผลลัพธ์ที่ได้หลังทำ DEXA Scan จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรค การแนะนำและรักษาผู้ป่วยในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกอีกครั้งภายใน 1-2 ปี เพื่อดูความหนาแน่นของมวลกระดูกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ DEXA จะไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนและปลอดภัยต่อร่างกายค่อนข้างมาก แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหากได้รับรังสีปริมาณมากจนเกินไปหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการสแกน เพื่อลดความเสี่ยงต่อร่างกายและทารกในครรภ์ให้ได้มากที่สุด