เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง ห่างไกลปัญหาสุขภาพ

การเดินทางอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบันที่นิยมไปท่องเที่ยวตามสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเติมพลังให้ตัวเอง แต่การเดินทางอาจต้องสะดุดและสร้างความทุกข์มากกว่าความสุข หากขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยที่ไม่คาดฝันระหว่างทริป ซึ่งการเตรียมตัวอย่างถูกต้องอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นในระหว่างเดินทางได้

1899 ก่อนเดินทาง rs

สิ่งที่ควรทำก่อนเดินทาง

ผู้ที่กำลังจะออกเดินทางควรเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไกลหรือเดินทางไปต่างประเทศ เพราะปัจจัยหลาย ๆ ด้านที่เปลี่ยนไป อย่างสภาพอากาศ ลักษณะพื้นที่ หรือเชื้อโรคประจำถิ่น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นเดินทางทุกครั้ง จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เข้ารับการตรวจสุขภาพโดยรวม รวมถึงการตรวจสุขภาพช่องปากและตรวจสายตา เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนออกเดินทาง
  • ฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์
  • นำชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นแบบพกพาและยาบางชนิดไปด้วย เพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ เป็นต้น นอกจากนั้น ควรนำครีมกันแดด ยากันยุง และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อติดตัวไปด้วย
  • หากมีโรคประจำตัว ให้เตรียมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้เป็นประจำไปด้วย อย่างยาสูดพ่นหรืออินซูลิน
  • หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ใกล้ที่พักหรือใกล้สถานที่ท่องเที่ยวจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกท้องถิ่น  
  • ทำประกันการเดินทางที่ครอบคลุมถึงค่ารักษาพยาบาลเผื่อไว้ในกรณีที่อาจเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยขณะท่องเที่ยว
  • พกสำเนาประวัติทางการแพทย์ของตนเองและคนในครอบครัวที่ร่วมเดินทางไปด้วย หากเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยขณะเดินทาง ข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้แพทย์พิจารณาวิธีการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทาง หากจำเป็นต้องนั่งยานพาหนะอย่างรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานาน ให้พยายามลุกเดินและยืดขาบ่อย ๆ อีกทั้งควรดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป

ข้อควรระวังขณะเดินทาง

ผู้ที่เดินทางควรคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้

แสงแดด

ผู้ที่ต้องเดินทางไปบริเวณที่มีแดดแรง ควรทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดดหรือ SPF ระดับ 15 ขึ้นไปทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลังจากเหงื่อออกหรือโดนน้ำ รวมถึงสวมหมวกและแว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวหน้าและรักษาสุขภาพดวงตา

กิจกรรมทางน้ำ

ในกรณีที่มีผู้ร่วมเดินทางเป็นเด็ก และจำเป็นต้องเดินทางทางน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ อย่างการว่ายน้ำหรือเล่นน้ำทะเล ผู้ปกครองควรเตรียมเสื้อชูชีพและแว่นตาว่ายน้ำสำหรับตนเองและเด็กไปด้วย รวมถึงไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังขณะทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ

อุบัติเหตุจากการเดินทาง

เพื่อลดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางท้องถนน ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจรที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีผู้ร่วมเดินทางเป็นเด็ก ผู้ปกครองควรนำคาร์ซีทหรือเบาะรองนั่งสำหรับเด็กไปด้วย โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 18 กิโลกรัม ควรนั่งในคาร์ซีทที่เหมาะกับขนาดตัวและคาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับคาร์ซีทให้กระชับ

ส่วนเด็กที่มีอายุ 4–8 ปี ซึ่งมักตัวโตเกินกว่าจะนั่งในคาร์ซีท ให้ใช้เบาะรองนั่งที่ทำขึ้นเพื่อปรับความสูงของเด็กให้พอดีกับระดับเข็มขัดนิรภัยของรถโดยเฉพาะ ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรเลือกใช้บริการสายการบินที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานสากล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขณะเดินทาง

ปัญหาสุขภาพระหว่างเดินทาง

ไม่ว่าผู้ที่เดินทางจะมีจุดหมายปลายทางใกล้หรือไกลก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพบางชนิดได้ เช่น

เมารถ

อาการเมารถ รวมถึงเมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เกิดขึ้นได้เมื่อประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นในทำงานไม่ประสานกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด หรือมีเหงื่อออก

ในเบื้องต้น วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถสามารถทำได้ ดังนี้

  • กินอาหารเบา ๆ รองท้องก่อนออกเดินทาง โดยกินในปริมาณที่พอดี และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารขณะโดยสารยานพาหนะ หากรู้สึกหิวหรือจำเป็นต้องเดินทางเป็นเวลานาน ให้เน้นกินอาหารที่ย่อยง่ายและจิบน้ำแทน
  • ขณะโดยสารยานพาหนะ ให้มองออกไปด้านนอก โดยจ้องไปยังจุดที่ไม่เคลื่อนไหวในระยะไกล และหลีกเลี่ยงการจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ อย่างรถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน
  • หากรู้สึกเมารถ อาจลองกินขนมชิ้นเล็ก ๆ อย่างขนมปังกรอบ เปิดหน้าต่างรถเล็กน้อยเพื่อให้อากาศถ่ายเท หรือแวะจุดพักรถแล้วออกมาเดินยืดเส้นยืดสายและสูดอากาศภายนอก

เจ็บหู

อาการนี้มักเกิดขึ้นระหว่างนั่งเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นหรือบินลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงอย่างกะทันหันทำให้ความดันอากาศภายในหูชั้นกลางกับความดันอากาศภายนอกไม่เท่ากัน ซึ่งการบรรเทาอาการเจ็บหูสามารถทำได้หลายวิธี เช่น กลืนน้ำลาย หาว เคี้ยวอาหารหรือหมากฝรั่ง เป็นต้น ในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นเด็กทารก ผู้ปกครองควรป้อนนมให้ลูกระหว่างที่เครื่องบินขึ้นหรือลง เพื่อช่วยให้เด็กกลืนและบรรเทาอาการเจ็บหู นอกจากนั้น การกินยาพาราเซตามอล 30–60 นาทีก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลง อาจช่วยป้องกันอาการเจ็บหูได้เช่นกัน

ท้องเสีย

อาหารและน้ำที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อโรคนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ผู้เดินทางควรเลือกกินอาหารและดื่มน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะเสมอ โดยกินอาหารที่ผ่านการปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนกิน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น หอย น้ำแข็ง อาหารข้างทาง นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น

แมลงกัดต่อย

แมลงบางชนิดโดยเฉพาะยุงเป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิด ทั้งไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย หรือไข้เหลือง ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มียุงชุกชุมหรือมีการระบาดของโรคเหล่านี้ จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนออกเดินทาง รวมถึงป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดโดยทายากันยุง สวมถุงเท้าและเสื้อผ้าแขนยาวขายาว เลือกที่พักที่มีประตูและหน้าต่างปิดมิดชิด ใช้มุ้งนอน และหลีกเลี่ยงการออกมาข้างนอกที่พักในช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุงมักออกมาหากิน

Jet Lag

Jet Lag เป็นความผิดปกติทางการนอนที่มักเกิดขึ้นชั่วคราวจากการเดินทางไปยังประเทศปลายทางที่มีเวลาต่างกับต้นทางหลายชั่วโมง ซึ่งทำให้ร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ได้ ส่งผลให้ผู้เดินทางเกิดอาการ Jet Lag เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อยล้า หรือท้องไส้แปรปรวน เป็นต้น ดังนั้น ผู้เดินทางจึงควรทำให้ร่างกายคุ้นชินกับช่วงเวลาใหม่ตั้งแต่ก่อนเดินทาง โดยปรับเวลานอนหลับและเวลาตื่นให้ตรงกับประเทศปลายทางก่อนเดินทาง 2–3 วัน และเมื่อเดินทางถึงจุดหมาย ให้พยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการกินอาหาร การเข้านอน หรือการตื่นนอน ตามเวลาปกติของเขตเวลาใหม่

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

บางประเทศอาจกำหนดให้การซื้อขายบริการทางเพศเป็นสิ่งถูกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวระหว่างเดินทาง ควรป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์

วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

วัคซีนที่ควรได้รับก่อนเดินทางไปต่างประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

วัคซีนพื้นฐาน

เป็นวัคซีนที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงได้รับวัคซีนประเภทนี้ตั้งแต่เกิด และวัคซีนบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีก ซึ่งวัคซีนพื้นฐานในปัจจุบัน ได้แก่

  • วัคซีนวัณโรค (BCG)
  • วัคซีนตับอักเสบบี (HB)
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP)
  • วัคซีนโปลิโอ (OPV)
  • วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE)
  • วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB)
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

วัคซีนที่แนะนําให้รับก่อนเดินทาง 

เป็นวัคซีนที่แพทย์พิจารณาให้รับตามความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งปัจจัยทางสุขภาพ ความเสี่ยงต่อการติดโรค และประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนเข้าประเทศบางประเทศ ดังนี้

วัคซีนที่ผู้เดินทางจะได้รับตามความเสี่ยง

  • วัคซีนโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ่ทัยป์บี (Hib)
  • วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค
  • วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (HA)
  • วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (Pnc)
  • วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
  • วัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์
  • วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น

วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนเดินทางเข้าบางประเทศ

  • วัคซีนโรคไข้เหลือง คนไทยจำเป็นต้องได้รับก่อนเดินทางเข้าประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้
  • วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น คนไทยจำเป็นต้องได้รับก่อนเดินทางไปประเทศซาอุดิอาราเบียเพื่อเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ของศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังจะเดินทางอาจปรึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกก่อน เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพระหว่างท่องเที่ยวอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตนเอง โดยควรปรึกษาแพทย์อย่างน้อย 46 สัปดาห์ก่อนออกเดินทาง