การตรวจเลือด (Blood Tests) เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายด้าน ซึ่งแบ่งได้หลายประเภทตามวัตถุประสงค์ที่แพทย์สั่งตรวจ เช่น ตรวจดูการทำงานของอวัยวะในร่างกาย เพื่อนำผลไปวินิจฉัยโรค ตรวจดูความสมบูรณ์และส่วนประกอบในเลือด ตรวจสอบหมู่เลือด และตรวจติดตามผลของยาที่ใช้ในการรักษา
โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือดมักไม่ต้องเตรียมตัวไปก่อน แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาชนิดใดอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตรวจเลือดและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ หลังการตรวจเลือดสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยมักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังรุนแรงการตรวจ
รู้จักการตรวจเลือด 9 ประเภท
การตรวจเลือดที่นิยมทำกันทั่วไปมีหลายประเภท ได้แก่
1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเป็นวิธีที่ใช้นำมาใช้ตรวจเลือดบ่อยและเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจเช็คสุขภาพทั่วไป ซึ่งจะช่วยค้นหาโรคหรือความผิดปกติในเบื้องต้นได้ เช่น การติดเชื้อ โรคโลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือด หรือความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน การตรวจด้วยวิธีนี้จะตรวจดูความผิดปกติของเลือด ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ฮีมาโทคริต และฮีโมโกลบิน
2. การตรวจสารเคมีในเลือด (Blood Chemistry Tests/The Basic Metabolic Panel: BMP)
การตรวจสารเคมีในเลือดเป็นการทดสอบสารเคมีในเลือดที่ตรวจได้จากพลาสมา ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะอื่น ๆ รวมถึงตรวจวัดระดับก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกโรคหัวใจและสมอง และค่าเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย
การทดสอบสารเคมีในเลือดบางชนิดจำเป็นต้องอดอาหารก่อนการตรวจ เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
3. การตรวจเอนไซม์ในเลือด (Blood Enzyme Tests)
การตรวจเอนไซม์ในเลือดเป็นการตรวจดูการทำงานของเอนไซม์ในเลือดที่ควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกาย แต่การตรวจวิธีนี้มักจะเน้นตรวจหาอาการหัวใจวายและผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยดูการทำงานของเอนไซม์ในเลือด โดยเฉพาะโทรโปนิน (Troponin) ครีเอทีน (Creatine) และไคเนส (CK)
นอกจากนี้ อาจใช้ตรวจการทำงานของตับที่เรียกว่า SGPT (Serum Glutamate-Pyruvate Transaminase) และ SGOT (Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase) ซึ่งเป็นการตรวจวัดเอนไซม์ที่ตับสร้างขึ้น หากพบปริมาณมากอาจบ่งบอกว่าอวัยวะภายในมีปัญหา
4. การตรวจประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ (Blood Tests to Assess Heart Disease Risk)
การตรวจนี้เป็นมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ที่มีหน้าที่เป็นตัวนำคอเรสเตอรอลหลายตัวในเลือด เช่น คอเรสเตอรอลรวม คอเรสเตอรอลชนิดเลวหรือ LDL (Low Density Lipoprotein) คอเรสเตอรอลชนิดดีหรือระดับ HDL (High Density Lipoprotein) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) จึงทำให้ทราบได้ถึงความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) มากน้อยเท่าใด
5. การตรวจหาลิ่มเลือด (Blood Clotting Tests/Coagulation)
การตรวจหาลิ่มเลือดเป็นการตรวจดูโปรตีนในเลือดที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ผลการตรวจที่ผิดปกติอาจบ่งบอกได้ถึงความเสี่ยงในการตกเลือด ภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก และตรวจหาภาวะที่มีการเกิดลิ่มเลือดง่ายกว่าปกติ ซึ่งการตรวจชนิดนี้มักใช้ในการติดตามผลการใช้ยาที่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดด้วย
6. การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Serology)
การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาเป็นการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ที่สร้างขึ้นในเลือดเมื่อได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมภายนอกร่างกายที่ทำให้เกิดอาการป่วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เอชไอวี (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) โควิด-19 (COVID-19) และซิฟิลิส (Syphillis)
7. การตรวจและควบคุมระดับยาในเลือด (Therapeutic Drug Levels)
การตรวจและควบคุมระดับยาในเลือดเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูระดับและปริมาณยาที่ใช้รักษาโรคที่พบในเลือดว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้ยาในการรักษาได้ดีขึ้น เช่น
- ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพลาร์ ยาลิเทียม (Lithium) และยาวาลโพรอิก แอซิด (Valproic Acid)
- ยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)
- ยารักษาโรคหัวใจล้มเหลวและหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาไดจอกซิน (Digoxin)
8. การตรวจหมู่เลือด (Blood Type Tests)
การตรวจหมู่เลือดเป็นการทดสอบความเข้ากันได้และความเหมาะสมของเลือดก่อนการให้เลือดแก่ผู้อื่น โดยดูจากแอนติบอดีที่ปรากฏบนผิวเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่เลือดและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ การตรวจหาหมู่เลือดที่สำคัญ ได้แก่ หมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO) และหมู่เลือดระบบอาร์เอช (Rh)
9. การตรวจการทำงานของฮอร์โมน (Hormone Testing)
การตรวจการทำงานของฮอร์โมนเป็นการตรวจวัดระดับปริมาณฮอร์โมนในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเพศ ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และเทสทอสเทอโรน รวมทั้งฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต และฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
วัตถุประสงค์ในการตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ใช้บ่อย และมีวัตถุประสงค์ในการตรวจที่หลากหลายกรณีตามดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจเลือดอาจเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หรือเป็นการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหรือสภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน คัดกรองโรคทางพันธุกรรมบางโรค ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และการติดเชื้อ
นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้การตรวจเลือดอีกหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ติดตามผลของตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรค หรือดูสภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายว่าดีขึ้นหรือไม่ ใช้ตรวจสอบหมู่เลือดก่อนการให้เลือด หรือแม้แต่ตรวจดูการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือดจึงมีแตกต่างกันออกไป
การเตรียมตัวก่อนการตรวจเลือด
การตรวจเลือดโดยทั่วไปมักจะทำในช่วงเช้า และไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษล่วงหน้า เพราะแพทย์ต้องการตรวจสอบว่าตัวอย่างเลือดมีความปกติหรือไม่ แต่การตรวจเลือดบางประเภทอาจต้องมีการงดน้ำและอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่นัดตรวจเลือด หรืออย่างน้อย 6–12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
รวมไปถึงหยุดการใช้ยาบางประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหากต้องมีการงดอาหาร หยุดการใช้ยา หรือมีคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามสิ่งสำคัญที่แพทย์แนะนำ เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ผลการตรวจมีความคาดเคลื่อน ทำให้ต้องมีการตรวจใหม่ และหากพบความผิดปกติจริงก็หมายถึงการรักษาที่ล่าช้ามากขึ้น
ขั้นตอนในการตรวจเลือด
ในการเข้ารับบริการตรวจเลือด แพทย์จะมีการสอบถามและพูดคุยกับผู้เข้ารับการตรวจในเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ก่อนการสั่งตรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยประเมินผลหลังจากได้ผลตรวจเลือด ซึ่งขั้นตอนการตรวจเลือด มีดังนี้
1. ผู้เข้ารับการตรวจจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง
2. เจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดตรงบริเวณที่จะเจาะ เพื่อช่วยให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจนขึ้น โดยส่วนมากจะเจาะที่บริเวณข้อพับแขน เพราะเป็นส่วนที่เจาะได้สะดวกและเห็นเส้นเลือดได้ค่อนข้างชัดเจน อย่างไรก็ตามสามารถเจาะบริเวณอื่นได้เช่นกัน สำหรับผู้เข้ารับการตรวจที่เป็นเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ
3. เจ้าหน้าที่จะใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดฆ่าเชื้อบริเวณที่ต้องการเจาะ รอสักพักจนแห้ง
4. เจ้าหน้าที่ใช้ไซริงก์เจาะเพื่อดูดเอาตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ โดยผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกเจ็บจี๊ดเล็กน้อยบริเวณที่เจาะ
5. เมื่อได้ปริมาณตัวอย่างเลือดตามต้องการจึงนำเข็มออก ปลดสายรัด ติดสำลีและพลาสเตอร์ยาบริเวณรอยเข็ม เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากภายนอก ในบางรายอาจมีการขอให้ผู้เข้ารับการตรวจกดบริเวณที่ติดพลาสเตอร์ยาไว้ชั่วครู่ เพื่อให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณของตัวอย่างเลือดที่ใช้และรายละเอียดของการตรวจเลือดบางประเภทอาจมีความแตกต่างกันออกไป
การดูแลและติดตามผลหลังการตรวจเลือด
ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้านหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติหลังการเจาะเลือด โดยตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะถูกส่งกลับมายังแพทย์ผู้สั่งตรวจ
โดยระยะเวลาการรอผลตรวจอาจเริ่มตั้งแต่หนึ่งวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละโรงพยาบาลและการตรวจเลือดแต่ละประเภท จากนั้นแพทย์จะนัดฟังผลการตรวจเลือดอีกครั้ง
ผลการตรวจเลือดจะแสดงถึงสารที่พบในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ หรือมีสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ด้วย หากพบว่าตัวอย่างเลือดเกิดความผิดปกติ แพทย์จะมีการพูดคุยกับผู้เข้ารับการตรวจเกี่ยวกับผลตรวจเลือดที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติในร่างกายอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันความผิดปกติที่พบหรือโรคบางโรคได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจออกมาไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เช่น อาหารที่รับประทาน อยู่ในช่วงมีประจำเดือน การออกกำลังกาย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม การใช้ยาบางชนิด จึงจำเป็นต้องมีการตรวจในขั้นตอนต่อไปเพิ่มขึ้นตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือตรวจซ้ำอีกครั้ง
ผลข้างเคียงของการตรวจเลือด
การตรวจเลือดค่อนข้างมีความปลอดภัย และเกิดผลข้างเคียงได้น้อยมาก ส่วนมากอาการที่พบอาจมีเพียงอาการฟกช้ำหรือปวดบริเวณที่มีการเจาะเลือด เนื่องจากแรงกดขณะเจาะเลือดที่มากและนานหลายนาที แต่อาการจะดีขึ้นและมักหายได้เองหลังจากนั้น
ในบางกรณีอาจเกิดบาดแผลหรือการติดเชื้อขึ้นได้เช่นกัน หากบาดแผลเกิดอาการบวมแดงและอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของการติดเชื้อขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจเลือดบางรายอาจเป็นลมในระหว่างการตรวจเลือดได้ แต่พบได้น้อย หากในระหว่างการตรวจรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ควรแจ้งเจ้าหน้าให้ทราบ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจการเจาะเลือดในท่านอนแทนการนั่ง เพื่อป้องกันการเป็นลม