คีโม (Chemotherapy) รู้จักวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

คีโม (Chemotherapy) หรือในทางการแพทย์เรียกว่า เคมีบำบัด เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาหลายรูปแบบเข้าไปทำลาย ชะลอ หรือหยุดเซลล์มะเร็งที่มีการเติบโตและแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจใช้รักษามะเร็งควบคู่กับวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด การฉายแสง และการให้ฮอร์โมนทดแทน ขึ้นอยู่กับประเภท ตำแหน่ง และความรุนแรงของมะเร็ง รวมทั้งปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การทำคีโมอาจมีผลต่อเซลล์ปกติในร่างกายบางส่วนได้เช่นกัน จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดขณะรักษา ผู้ป่วยจึงต้องพูดคุยและรับทราบประโยชน์ ขั้นตอน และความเสี่ยงของการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งก่อนการทำคีโม

คีโม Chemotherapy

วัตถุประสงค์ของการทำคีโม

ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของการรักษาโรคมะเร็งตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจ ซึ่งการทำคีโมแบ่งออกได้เป็นหลายวัตถุประสงค์ ดังนี้

รักษาโรคมะเร็ง

การทำเคมีบำบัดมีจุดประสงค์ในการเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งให้หายไป ในบางกรณีมีความเป็นไปได้ที่ตัวยาสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งก็อาจเกิดมะเร็งขึ้นมาใหม่ได้หลังการรักษา แพทย์จึงไม่สามารถรับรองได้ว่าการทำเคมีบำบัดจะช่วยรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด

ควบคุมเซลล์มะเร็ง

นอกเหนือจากการเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์อาจแนะนำการทำคีโมเพื่อช่วยควบคุมมะเร็งในผู้ป่วยที่มะเร็งมีการเติบโตจนแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น 

เนื่องจากการทำคีโมในบางครั้งอาจเป็นการเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งให้หายไปในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำเมื่อหยุดการรักษาซึ่งคล้ายกับการรักษาโรคเรื้อรังชนิดอื่น ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการทำคีโมเป็นระยะ

ช่วยประคับประคองอาการ

เมื่อมะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นจนไม่สามารถควบคุมได้ การทำคีโมอาจมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งในการบรรเทาอาการและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นให้มากที่สุด เช่น ช่วยลดขนาดเนื้องอกที่เข้าไปกดทับจนเกิดอาการปวดตามร่างกาย

นอกจากนี้ การทำเคมีบำบัดอาจใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเพียงวิธีเดียวหรือใช้รักษาควบคู่กับวิธีอื่น เช่น 

  • การให้เคมีบำบัดเบื้องต้นก่อนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือฉายแสง เพื่อช่วยให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง (Neo-adjuvant Chemotherapy) 
  • การให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดหรือฉายรังสี (Adjuvant Chemotherapy) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดหรือการฉายแสง หรือช่วยให้การรักษาแบบวิธีการฉายแสงและการรักษาด้วยยาชีวบำบัดได้ผลที่ดียิ่งขึ้น

ข้อห้ามของการทำคีโม

การทำคีโมอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยให้แย่ลงได้ในบางกรณี จึงควรรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรณีต่อไปนี้

  • อยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์การทำเคมีบำบัดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด
  • เป็นโรคไตหรือตับในขั้นรุนแรง ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มักต้องผ่านขั้นตอนการกรองหรือกำจัดของเสียโดยตับและไต จึงอาจมีผลกระทบอันตรายสูงหากเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไตอยู่ก่อนแล้ว
  • ผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดต่ำ การทำเคมีบำบัดอาจทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้นและมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ ในบางรายจึงอาจต้องมีการให้เลือดหรือการใช้ยาก่อนเข้ารับการทำเคมีบำบัด เพื่อช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดให้มากขึ้น
  • หลังเข้ารับการผ่าตัดหรือมีบาดแผล การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อความสามารถในการซ่อมแซมบาดแผลของร่างกายที่เกิดความเสียหายขึ้น แพทย์มักแนะนำให้รอให้บาดแผลหายสนิทก่อนทำการรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด
  • เกิดการติดเชื้อ ในผู้ป่วยบางรายที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อ ไม่ควรเข้ารับการทำเคมีบำบัด เนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

ขั้นตอนในการทำเคมีบำบัด

การทำเคมีบำบัดจะต้องมีการวางแผนการรักษาล่วงหน้าตามขั้นตอน เพื่อให้ผลของการรักษามีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งขั้นตอนในการทำเคมีบำบัดมีดังนี้

1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย

แพทย์จะสอบถามประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายทั่วไป และอาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจดูการทำงานของตับ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเช็คการทำงานของหัวใจ ฉายภาพรังสีเพื่อดูขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง เพื่อให้ทราบปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการทำเคมีบำบัด และยืนยันว่าผู้ป่วยพร้อมที่จะได้รับการรักษาก่อนการวางแผนการรักษาผู้ป่วยในขั้นต่อไป

2. พูดคุยและแจ้งแผนการรักษา

แพทย์จะประเมินแนวทางการรักษาตามสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละคน โดยดูจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ประเภทของมะเร็ง ขนาดหรือตำแหน่งการเกิด อายุของผู้ป่วย และผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายผู้ป่วยโดยรวม

จากนั้น แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยเกี่ยวกับแผนการรักษา ข้อดีและข้อเสีย ไปจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อตัดสินใจในการเลือกใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน แต่ในเรื่องของปริมาณการใช้ยา วิธีการให้ยา ความถี่ในการให้ยา และระยะเวลาในการทำคีโมจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้กำหนด

การทำคีโมอาจใช้ยาชนิดเดียวหรือใช้ยาจากหลายกลุ่มรวมกันแล้วแต่กรณี ซึ่งการใช้ยาหลายกลุ่มรวมกัน อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดโอกาสที่มะเร็งทนทานต่อยาเพียงชนิดเดียวในการรักษาได้มากกว่า ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วยสามารถทำได้หลายทาง เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน (Oral Chemotherapy) เป็นยาในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล หรือยาน้ำสำหรับการรับประทาน
  • การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous: IV) เป็นยาที่ฉีดเข้าสู่เส้นเลือดดำโดยตรง
  • การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) การให้ยาโดยฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน สะโพก
  • การฉีดยาเข้าทางไขสันหลัง (Intrathecal) ยาจะถูกฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างชั้นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง
  • การฉีดยาเข้าทางช่องท้อง (Intraperitoneal: IP) เป็นการให้ยาด้วยการฉีดเข้าไปที่บริเวณช่องท้องของผู้ป่วย
  • การฉีดยาเข้าหลอดเลือดแดง (Intra-arterial: IA) เป็นการให้ยาโดยผ่านหลอดเลือดแดงที่สามารถนำตัวยาไปยังเซลล์มะเร็งได้
  • ยาทาที่ผิวหนัง (Topical) ยาในรูปแบบครีมสำหรับทาลงไปบนผิวหนังโดยตรง

3. การรักษาด้วยคีโม

ผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้ระยะเวลาและความถี่ในการรักษาที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของแต่ละคน เช่น ประเภทของมะเร็ง จุดประสงค์ของการทำคีโม วิธีการทำคีโม หรือแม้แต่การตอบสนองของร่างกายต่อการรักษา 

โดยส่วนมาก แพทย์จะกำหนดระยะเวลาการทำคีโมเป็นรอบหรือช่วงระยะ เช่น เดือนละ 1 รอบ โดยให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำคีโม 1 สัปดาห์แล้วเว้นให้ร่างกายได้พัก 3 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ปรับตัวและสร้างเซลล์ปกติขึ้นมาทดแทนได้ทัน

หากผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงรุนแรง แพทย์อาจเลื่อนหรือปรับตารางการทำคีโมให้เหมาะกับคนไข้มากขึ้นในรอบต่อไป โดยแพทย์หรือพยาบาลจะแจ้งให้ทราบถึงสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงการรักษา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอในช่วงระหว่างการเข้ารับการทำคีโม ซึ่งแพทย์จะมีการสอบถามเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการรักษา รวมไปถึงมีการนัดตรวจพิเศษต่าง ๆ เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษาและปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยมากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนทำเคมีบำบัด

การทำคีโมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในบางด้าน การเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการรักษาจะช่วยบรรเทาความเครียด รวมไปถึงลดผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ เช่น

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยให้มีความสมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับและสารอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วหลังการรักษา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำอารมณ์และจิตใจให้พร้อมรับการรักษา
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินเสริม หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ เพราะอาจไปลดประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น
  • ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก แพทย์ควรอธิบายให้เข้าใจถึงผลข้างเคียงและการรักษาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ลดความวิตกกังวลลง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลให้เกิดมะเร็งบางชนิดขึ้นมาใหม่ได้ในรายที่เคยผ่านการรักษาโรคมาแล้ว หรืออาจพัฒนาให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นขึ้นมาได้ และยังอาจลดความอยากอาหารหรือส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดปัญหาในสุขภาพของช่องปาก

การดูแลและติดตามผลหลังการทำเคมีบำบัด

หลังการรักษาผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากผู้ดูแล คนรอบข้าง หรือแม้แต่ครอบครัว เพราะเป็นช่วงของการพักฟื้นร่างกาย รักษาผลข้างเคียงจากการรักษาโรค และฟื้นฟูสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติได้เร็วขึ้น 

โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและกลับไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้หลังการรักษา ซึ่งจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพทางร่างกายของแต่ละคน และวิธีการรักษาโรคมะเร็ง 

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการนัดตรวจติดตามผลหลังการรักษาเป็นระยะในบางราย ผู้ป่วยควรขอเก็บสำเนาของประวัติการรักษาโรคของตนเองไว้ เพราะอาจมีโอกาสในการกลับมาของโรคหรือเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาในครั้งต่อไป

ผลข้างเคียงของการทำคีโม

ยาคีโมไม่เพียงแต่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเซลล์ปกติและอวัยวะอื่นทั่วไป จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณและชนิดของยาที่ใช้ ความแข็งแรงของผู้ป่วย อาการของโรค และการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย บางรายอาจมีอาการมาก บางรายมีอาการน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงไม่เหมือนกัน 

ทั้งนี้ อาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้บ่อยจากการทำคีโม มีดังนี้

เหนื่อยง่าย

ผู้เข้ารับการทำคีโมอาจมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติแม้ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมทั่วไปหรือกิจกรรมที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน จึงควรมีการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เหนื่อยได้ง่าย และควรมีการออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ใช้แรงมาก เช่น เดิน และเล่นโยคะเพื่อช่วยกระตุ้นร่างกาย

คลื่นไส้ อาเจียน

คลื่นไส้และอาเจียนเป็นอาการที่พบได้บ่อย แพทย์อาจให้ยาแก้อาเจียน เพื่อช่วยบรรเทาอาการระหว่างการทำเคมีบำบัด ซึ่งยาที่ใช้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด และฉีด แต่ยาเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ หรือปวดศีรษะได้ในช่วงการรับประทานยา หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือรุนแรงมากกว่าเดิม ควรรีบปรึกษาแพทย์

ผมร่วง

ผมร่วงเป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยในการใช้ยาเคมีบำบัดบางประเภท และมักส่งผลกระทบต่อผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการในช่วงสัปดาห์ 1-3 หลังการให้ยาเคมีบำบัด และผมร่วงอย่างมากในช่วง 1-2 เดือนถัดมา รวมไปถึงเกิดหนังศีรษะลอกตามมา

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผิวลอกได้ตามแขน ขา ใบหน้า หรือร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหายไปหลังการรักษา ผมจะกลับมาขึ้นตามปกติ แต่อาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ เช่น ผมตรงหรือหยิกมากขึ้น สีผมเปลี่ยนไปเล็กน้อย

เกิดการติดเชื้อ

การทำเคมีบำบัดอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น ผู้ป่วยควรดูแลสุขอนามัยและความสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่น รักษาความสะอาดของเสื้อผ้า ทำความสะอาดร่างกาย และล้างมือหลังจับสิ่งสกปรก ดูแลเรื่องอาการให้ถูกสุขลักษณะ ระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่เป็นโรคติดต่อ หรืออยู่ในสถานที่แออัด 

แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และอาจตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อตรวจดูภาวะการติดเชื้อในผู้ป่วย

ภาวะเยื่อบุภายในร่างกายอักเสบ

การทำคีโมอาจทำให้เกิดอาการปวดและการอักเสบของเนื้อเยื่อผิวด้านในของระบบย่อยอาหารตั้งแต่ช่องปากไปจนถึงทวารหนัก บางรายอาจเกิดการอักเสบที่เยื่อบุภายในช่องปากจากการรับประทานอาหารร้อน ๆ ที่ส่งผลให้เกิดแผลในช่องปาก ลิ้น หรือรอบริมฝีปากจนรับประทานอาหารได้ลำบากมากขึ้น มีอาการปวด เลือดไหล และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย 

อาการอักเสบเหล่านี้มักเกิดหลังจากการทำเคมีบำบัดประมาณ 7–10 วัน และผู้ที่ได้รับยาในปริมาณสูงอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น แต่อาการจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากการรักษา

นอกจากนี้ การทำคีโมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น เกิดความเสียหายต่อหัวใจ ปอด ไต เส้นประสาท และระบบสืบพันธุ์ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้หลังทำคีโม ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
  • เลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกตามไรฟัน
  • เกิดแผลในปากจนทำให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
  • อาเจียนไม่หยุด แม้ว่ารับประทานยาช่วยบรรเทาอาการอาเจียน
  • ถ่ายมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน หรือมีอาการท้องเสีย